สธ.เล็งยกเลิกรายงานผู้ติดเชื้อรายวัน ดัน โควิด เป็นโรคประจำถิ่น นายแพทย์ เกียรติภูมิ เกียรติภูมิ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง การรายงานผลหาเชื้อ RT-PCR และ ATK ที่ไม่สามารถนับยอดผู้ป่วยรวมกันได้ เพราะเป็นคนละระบบ มีการรักษาที่แตกต่างกัน และบางครั้งผู้ติดเชื้อบางราย มีผลการตรวจทั้ง 2 แบบ อาจทำให้ข้อมูลซับซ้อน
ทั้งนี้ หลังจากนี้การตรวจ RT-PCR จะใช้กับกลุ่มผู้ป่วย ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เพื่อยืนยันผลการติดเชื้อ ขณะที่การพิจารณา UCEP โควิด กระทรวงได้กลับมาทบทวนและจะส่งข้อมูลใหม่ ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา หากเห็นชอบ ก็สามารถนำมาประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ โดยจะไม่กระทบต่อสิทธิการรักษาของประชาชน
นอกจากนี้ ได้เตรียมแผนประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นภายใน 4 เดือน ซึ่งจะต้องประเมินความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิตที่ลดต่ำ และจะไม่รายงานยอดผู้ติดเชื้อแล้ว แต่จะรายงานยอดผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น
ส่วนนายแพทย์ จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิดที่สูงขึ้น มาจากหลายครอบครัวติดเชื้อภายในบ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงขาขั้นของการระบาดโอมิครอนในไทยเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับตอนนี้ต้องเฝ้าระวัง ผู้ป่วยอาการหนักที่นำไปสู่การเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่ง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ส่งผลต่ออัตราผู้เสียชีวิตก็เพิ่ม 2 เท่าเช่นกัน
ด้านนายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การติดเชื้อโควิดเกิดขึ้นในกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มที่ไปสถานที่เสี่ยง และนำมาแพร่เชื้อในชุมชน ในครอบครัว ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตอนนี้ครองเตียงไปแล้วร้อยละ52 จากเตียงทั้งหมด 1 แสน 8 หมื่นเตียง ซึ่งเหลือเตียงรองรับร้อยละ 40 โดยผู้ป่วยอาการหนัก ยังคงมีเตียงรองรับได้อยู่ หากผู้ป่วยตรวจ ATK ผลเป็นบวก ไม่จำเป็นต้องยืนยันด้วยผล rt-pcr เข้าสู่ระบบการรักษาได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สปสช.เตรียมแจก ชุดตรวจ ATK ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เฟส 2 เริ่ม 1 มี.ค.นี้
- อุทาหรณ์! แม่แชร์เรื่องเศร้า ลูกน้อยดับหลังไข้ขึ้นสูง หมอวินิจฉัยเป็น ลองโควิด
- วิธีการขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีแพ้หรือมีอาการข้างเคียง หลังฉีดวัคซีนโควิด-19