จากกรณีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล สร้างแคมเปญเรียกร้องไปยัง อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้มีอำนาจตัดสินใจ ให้ตรวจสอบอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งมีพฤติกรรมเหยียดเพศในชั้นเรียนวิชาจิตวิทยาการศึกษา และจิตวิทยาสำหรับครู
วันที่ 21 ม.ค. 62
นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากนิสิตที่เคยเรียนครุศาสตร์ และนักศึกษาครุศาสตร์ปัจจุบัน รวมถึงคณะอื่น ๆ ว่าอาจารย์คนดังกล่าวมีการใช้คำพูดเหยียดเพศ อย่างเช่น นิสิตบางคนที่เป็นเพศที่ 3 ก็จะถูกอาจารย์มองเหยียดหยาม มองว่าเป็นโรคประสาท และบอกว่าสมัยก่อนต้องไปรักษาตัวในโรงพยาบาล อีกทั้งบอกว่าคนที่เป็นเพศที่ 3 เป็นครูไม่ได้ และถ้านิสิตแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิด เช่น ผู้ชายแต่งเป็นหญิง ก็จะถูกไล่ออกจากห้องเรียน นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงสาวทอมที่แต่งกายเป็นผู้ชาย โดยอาจารย์บอกว่าถ้าทอมได้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ก็จะกลายเป็นผู้หญิงเหมือนเดิม
นายเนติวิทย์ กล่าวต่อว่า หลังจากเป็นข่าว นิสิตในมหาวิทยาลัยจำนวนมากก็รับไม่ได้กับพฤติกรรมของอาจารย์ ทั้งยังพบว่านิสิตและอดีตนิสิตเข้ามาคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก ระบุว่าเคยถูกอาจารย์รายนี้เหยียดเพศมาก่อน ซึ่งอาจารย์รายดังกล่าวสอนหนังสือมานาน 30 กว่าปี ซึ่งแสดงพฤติกรรมเช่นนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตนก็คิดในแง่ดีว่าอาจารย์อาจจะไม่ได้ตั้งใจเหยียดเพศ แต่อาจเป็นเพราะความรู้จิตวิทยาที่อาจารย์เรียนมาเป็นหลักสูตรเก่า ทำให้มีทัศนคติแบบนี้ ซึ่งตนมองว่าควรมีการปรับเปลี่ยน และอยากให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง เปิดพื้นที่ให้พูดคุยกันจะเป็นการสร้างสรรค์มากกว่า ไม่ใช่ว่าเด็กเห็นต่างแล้วต้องมาถูกไล่ออกจากห้องเรียน
โดยตนทราบว่าอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ ได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งวันนี้เพื่อนนิสิตของตนได้นำธง LGBT ซึ่งเป็นธงหลากสี เป็นสัญลักษณ์ของเพศทางเลือก และหนังสือสิทธิมนุษยชนไปให้อาจารย์ แต่อาจารย์ไม่รับ ซึ่งตนคิดว่าเพศที่ 3 เป็นเรื่องปกติ ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์ก็ให้อิสระในการเลือกเพศ