บุหรี่มือสอง - ฝุ่น PM 2.5 เสี่ยงมะเร็งปอด พบเร็วเพิ่มโอกาสรักษาหาย 31%

17 มี.ค. 65

โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา เผย กลุ่มบุหรี่มือสอง เสี่ยงมะเร็งปอดไม่แพ้คนสูบ เปิดผลการศึกษา “ฝุ่น PM 2.5” สร้างความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1 – 1.4 เท่า ส่งผลร้ายต่อปอดเทียบเท่าบุหรี่ แนะตรวจสุขภาพดูแลตัวเองสม่ำเสมอทุกปี ชี้ตรวจพบเร็วมีโอกาสรอดชีวิต 31%

นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยว่า “มะเร็งปอด" ถือเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของโรคมะเร็งและมีอัตราผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก รายงานว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน และเสียชีวิต 1.7 ล้านคนต่อปี ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยพบว่ามะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 และยังพบว่ามะเร็งปอด เป็นเชื้อมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง โดยทุก ๆ วัน เฉลี่ยวันละ 42 คน

ขณะที่ปัจจุบันมีดารา ศิลปิน และบุคคลมีชื่อเสียงในสังคม มีอัตราเสียชีวิตด้วย “มะเร็งปอด” เพิ่มขึ้นหลายราย แน่นอนว่าสาเหตุหลักของการก่อเชื้อมะเร็งปอดนั้นมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ หรือการได้รับมวลสารที่ก่อสารมะเร็งเข้าไปทำร้ายปอดโดยไม่รู้ตัว พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อมะเร็งปอดและเป็นสาเหตุหลักคือ การสูบบุหรี่ ซึ่งมีอัตราสูงถึง 85%

ขณะที่ หลายคนอาจเข้าใจว่าผู้ที่สูบบุหรี่เท่านั้นที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด แต่จากการสอบประวัติผู้ป่วยกลับพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดกว่า 20% ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่เลย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่ายังมีอีกหลายสาเหตุที่คาดไม่ถึงว่าเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ ทั้งนี้ สาเหตุของมะเร็งปอดเกิดได้หลายเหตุปัจจัย โดยเฉพาะกลุ่มบุหรี่มือสอง ที่อยู่ร่วมกับผู้สูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการสูดควันสูบบุหรี่จำนวนมากเป็นประจำสม่ำเสมอ การได้รับควันบุหรี่มือสอง มือสาม จากการสูดหายใจเข้าไปจะทำให้มีสารพิษตกค้าง จนก่อให้เกิดมะเร็ง

นอกจากนี้ สภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองที่เป็นพิษก็มีผลต่อสาเหตุการเกิดมะเร็งปอด จากการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM2.5 ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1 – 1.4 เท่า นับว่ามีความร้ายแรงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ นอกจากสาเหตุข้างตนแล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การสูดดมควันจากการทำอาหาร ควันที่มาจากธูปหรือเทียน และการเกิดยีนส์กลายพันธุ์ขึ้นในร่างกาย ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้อีกด้วย

นายแพทย์ธนุตม์ กล่าวเพิ่มเติม “การหมั่นตรวจเช็คอาการผิดปกติทางร่างกายเบื้องต้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เช่น อาการไอเรื้อรัง ไอปนเลือด น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ เหนื่อยง่าย หรือเสียงแหบ เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อมะเร็งปอดที่ควรต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปอดอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ ปี อาทิ ผู้ที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่วันละ 1 ซองหรือมากกว่า เป็นระยะเวลากว่า 30 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่สูบวันละ 2 ซองหรือมากกว่า เป็นระยะเวลา 15 ปีขึ้นไป และยังรวมไปถึงบุคคลที่เป็นกลุ่มบุหรี่มือสอง หรือ Second hand smoker ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ ก็นับเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกันเพราะในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากกว่า 60 ชนิด”

“ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์มีวิวัฒนาการก้าวไกล ทั้งรูปแบบการรักษาที่มีการพัฒนาเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยาพุ่งเป้า ยาภูมิต้านทานเคมีบำบัด รวมถึงการฉายรังสี ความร้อนบำบัด และเช่นเดียวกับขั้นตอนการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในปัจจุบัน ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถตรวจได้ละเอียดมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เรียกว่า CT chest Low dose ซึ่งเป็นการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดปริมาณรังสีต่ำที่สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ด้วยวิธีการถ่ายภาพสามมิติที่ให้ความละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา

ทั้งยังช่วยบ่งบอกถึงสมรรถภาพปอดเมื่อเทียบกับคนปกติได้ โดยการทำ Spirometry หรือ Lung Function Test ซึ่งจะช่วยในการตรวจหาโรคปอดอื่น ๆ เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับคนไข้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่เป็นประจำทุกวันและบ่อยครั้ง ซึ่งผลลัพธ์ที่แม่นยำจะเป็นประโยชน์มากในการวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยด้านข้อมูลจากสาธารณะสุขพบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเทคโนโลยี CT chest Low dose หากตรวจพบเชื้อมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ในระยะแรกตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดและรอดชีวิตได้เพิ่มขึ้น 31% อีกด้วย” นายแพทย์ธนุตม์ กล่าวทิ้งท้าย

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นกระแส