สจล.-แอร์บัส จัดตั้งโปรแกรมโซลูชันการฝึกอบรมด้านการบำรุงรักษา ACT for Academy เน้นปูพื้นฐานการบำรุงรักษาเครื่องบินไปสู่ขั้นสูง โดยนักศึกษาจะได้ฝึกประสบการณ์ผ่านเครื่องมือหลากรูปแบบ อาทิ ทดลองขับเครื่องบินแอร์บัสเสมือนจริงแบบสามมิติ
ผศ. ดร.เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดี วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับแอร์บัส (Airbus) ผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำระดับโลก พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับวิศวกรรมการบินรุ่นใหม่ในชื่อ “ACT for Academy” (Airbus Competence Training (ACT) for Academy) เพื่อฝึกอบรมด้านการบำรุงรักษาเครื่องบินขั้นพื้นฐาน ที่พร้อมเติมเต็มความรู้นับตั้งแต่ขั้นตอนการบำรุงรักษา เทคโนโลยีล่าสุดของเครื่องบินแอร์บัส ฯลฯ ผ่านการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการโดยใช้สถานการณ์เสมือนจริง (Virtual Aviation) อาทิ ทดลองแอร์บัสแบบเวอร์ชวล เพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาด้านการบินและอวกาศรุ่นใหม่ ให้สามารถเติบโตในสาขาอาชีพด้านอุตสาหกรรมการบินได้อย่างมืออาชีพ ทั้งนี้การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นหนึ่งในบริการการฝึกอบรมของแอร์บัส (Airbus Training Services) ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักศึกษาวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล.
โดยนักศึกษาจะได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้เสมือนจริง ผ่านเครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลาย ดังต่อไปนี้ 1. เครื่องบินแอร์บัสเสมือนจริงแบบสามมิติ ประกอบด้วยห้องนักบินและเครื่องยนต์เสมือนจริง รวมถึงผู้ฝึกสอนคอยดูแล 2. แบบฝึกหัดจำลองสถานการณ์จริงเพื่อดำเนินการบำรุงรักษาระบบอากาศยานทั่วไป และ 3. การสร้างความคุ้นเคยทั่วไปเกี่ยวกับโปรแกรมบทเรียน (Courseware) ของเครื่องบินแอร์บัสเพื่อนำเสนอและอธิบายถึงเครื่องบิน และระบบต่างๆ ของเครื่องบิน นอกจากนี้ ยังมีทักษะที่จำเป็นทั้ง Soft Skill และ Hard Skill อย่างไรก็ดี การทำงานในสถานการณ์จริงไม่เพียงแต่ช่วยให้นักศึกษาได้รับความรู้ความชำนาญด้วยประสบการณ์ตรงเท่านั้น แต่ยังถือเป็น “ความพร้อมลงมือปฏิบัติ” อีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นสำหรับนายจ้างในอนาคต
“สจล. รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เป็นพันธมิตรร่วมกับแอร์บัส รังสรรค์ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมให้กับนักศึกษาของเราได้อย่างแท้จริง ด้วยโซลูชันฝึกอบรม ACT for Academy นี้เอง นักศึกษาของเราจะได้รับความรู้ความชำนาญด้วยประสบการณ์ตรงจากเครื่องบินแอร์บัส สิ่งนี้ทำให้พวกเขามีทักษะที่ “พร้อมต่อการทำงาน” เพื่อตอบสนองความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของอุตสาหกรรมการบิน โดยในปัจจุบันแม้อุตสาหกรรมการบินจะได้รับผลกระทบจากภาวะโควิด-19 แต่เชื่อเหลือเกินว่าหลังจากนี้อุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชน”
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรต่างประเทศเพื่อยกระดับศักยภาพนักศึกษาในหลักสูตรปกติให้พร้อมก้าวสู่โลกการทำงานจริงแล้ว วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล.ยังมีวิสัยทัศน์ในการมุ่งสร้างบัณฑิตเพื่อตอบโจทย์ภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ โดยการเปิดหลักสูตรใหม่ พร้อมเปิดรับนักศึกษาในระบบทีแคส 65 ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมการบินและอวกาศในระดับปริญญาตรี นักศึกษาที่จบจากหลักสูตรนี้ สามารถประกอบอาชีพด้านวิศวกรรมการบิน โดรนหรือยานบินระดับสูง รวมถึงด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศได้
หลักสูตรวิศวกรรมการบินและอวกาศ สจล.มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งเสริมการเรียนและกิจกรรมพิเศษ เพื่อเน้นให้นักศึกษาทุกคนได้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมการบินและอวกาศระหว่างการศึกษา อาทิ กิจกรรมส่งโดรนพิเศษไปบินที่ขอบอวกาศ ความสูงกว่า 30 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นระยะความสูงที่มีโอกาสขึ้นไปได้ยาก ซึ่งจะใช้เวลาอยู่นานถึง 100 วัน โดย สจล. เป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทยที่นักศึกษาในหลักสูตรทุกคนมีโอกาสได้สร้างการทดลองหรือดาวเทียมไปทดสอบที่ขอบอวกาศ รวมถึงการฝึกผ่าน Airbus ACT for Academy ซอฟต์แวร์การซ่อมบำรุงเครื่องบินรุ่นล่าสุดของ Airbus ซึ่งมีเพียงใน 8 หน่วยงานในโลกที่ Airbus ได้สนับสนุนให้นำมาใช้ในการเรียนการสอน และยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่นักศึกษาในหลักสูตรนี้จะได้เข้าร่วมผ่านความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. กับหน่วยงานเครือข่ายด้านการบินและอวกาศทั้งในและต่างประเทศ ผศ. ดร.เสริมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน มร. เบิร์ท พอร์ตแมน หัวหน้าฝ่ายการฝึกอบรมและบริการปฏิบัติการบินประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของแอร์บัส กล่าวถึงการจับมือร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันการศึกษาไทยครั้งนี้ว่า นับเป็นหมุดหมายครั้งสำคัญในการขยายโซลูชันการฝึกอบรมของ Airbus มายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการคาดการณ์ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตในภาคการบินสูงที่สุด และ ACT for Academy จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการฝึกอบรมช่างเทคนิคและวิศวกรรุ่นใหม่ในการให้บริการเครื่องบินรุ่นใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในอนาคต