เฮ! ลดเงินสมทบ ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 นาน 3 เดือน ช่วยผลกระทบวิกฤตยูเครน

24 มี.ค. 65

ผู้ประกันตนเฮ ลดเงินสมทบ ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 และนายจ้าง นาน 3 เดือน ลดผลกระทบ สงครามรัสเซีย ยูเครน

วันนี้(24 มี.ค.65) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและกล่าวรายงาน

นายสุชาติ กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกท่าน จึงให้แต่ละหน่วยงานกำหนดมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยด่วนที่สุด ซึ่งภายใต้การกำกับดูแลของท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย–ยูเครน เพื่อลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น

โดยการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ค่าจ้างงวดเดือน พ.ค. - ก.ค. 65 โดยวงเงินที่คาดว่าจะต้องใช้จำนวน 33,857 ล้าน ได้แก่

  1. ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพ ไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน

  2. ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน

  3. ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 คือ
  • ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาท
  • ทางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท
  • ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 – 360 บาทต่อคนต่อเดือน

นอกจากนี้ นายจ้าง จำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุน การผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท มาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 103,620 ล้านบาท

59815484-7b13-4bf5-a218-e8981

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าประเด็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า กระทรวงแรงงานได้เร่งรัดติดตามการดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยหากเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเรายังอยู่ในระดับที่สูงกว่า และ การขึ้นค่าแรงในแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ตามเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตามหลักการของ ILO

ทั้งนี้ ในห้วง เดือน เม.ย. – มิ.ย. 65 อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานแรงงานจังหวัดดำเนินการสำรวจและประมวลผลค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ จากนั้นในเดือน ก.ค.65 คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ จะจัดประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และส่งผลประชุมให้คณะกรรมการค่าจ้าง ก่อนที่จะให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นจัดการประชุมพิจารณาในเดือน ส.ค.-ก.ย.65 โดยในกรณีมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานจะลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

รมว.แรงงาน ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องช่วงโควิด-19 ทั้งในส่วนของนายจ้าง และลูกจ้าง เช่น โครงการ ม.33 เรารักรักกัน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ 29 จังหวัด การลดเงินสมทบ จำนวน 5 ครั้ง นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้มีมาตรการในการรักษาระดับการจ้างตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs จนทำให้ในปี 2564 ตลาดการจ้างงานพลิกกลับเป็นบวก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 170,000 ตำแหน่ง

อีกทั้งรัฐบาลยังมีมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คือโครงการ Factory Sandbox เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุข จนทำให้ในปี 64 มูลค่าภาคการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการในรอบ 11 ปี หรือประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท และด้วยความห่วงใยจากท่านนายกรัฐมนตรี จึงได้กรุณาอนุมัติจัดสรรยอดวัคซีนในโครงการวัคซีนมาตรา 33 สำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะ รวมถึงกำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ป่วยโควิด-19 จนนำไปสู่การจัดตั้ง Hospitel เพื่อรองรับการรักษาแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน

“มาตรการช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครน–รัสเซีย ที่กระทรวงแรงงานได้กำหนดขึ้นมานั้น เป็นมาตรการระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งเป็นความห่วงใยจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นห้วงวิกฤตซ้อนวิกฤตก้าวข้ามสถานการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกันสังคม เผยสิทธิประโยชน์รับเงินบำนาญกรณีชราภาพ เมื่ออายุ 55 ปี
วิธี ลงทะเบียนว่างงานประกันสังคม รูปแบบใหม่ และ ม.33 ขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบ
ลงทะเบียนประกันสังคม www.sso.go.th มาตรา 40 และ เช็คสิทธิ ม. 33 กลุ่มแดงเข้ม 13 จังหวัด

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม