หมอธีระเผยงานวิจัย ชี้ โควิดกระจายทั่วร่างกาย ไม่ใช่เพียงแค่ระบบทางเดินหายใจ หลังสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมไวรัสในเลือดของผู้ป่วยได้ถึง 45%
วันที่ 4 เม.ย.65 หมอธีระ หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กประเด็นการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากที่เชื้อกระจายไปทั่วร่างกายไม่ใช่กระจายเพียงแค่ในปอด โดยระบุข้อความว่า
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 777,342 คน ตายเพิ่ม 1,846 คน รวมแล้วติดไปรวม 491,562,847 คน เสียชีวิตรวม 6,175,764 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และเวียดนาม
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.63 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.55
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 53.03 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 44.96
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก
เมื่อวานนี้ไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิต 97 คน เทียบกับทั่วโลกแล้วถือว่าสูงมาก เป็นรองเพียงเกาหลีใต้ รัสเซีย อิตาลี และฮ่องกง ทั้งนี้ถือว่าติดอันดับท็อปไฟฟ์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ระบาดมา หากจำไม่ผิด
สะท้อนให้เราหันมาประเมินกันให้ดีว่า ไอ้ที่ว่า Omicron อ่อนนั้น เป็นการเปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดมาในระลอกก่อน แต่สุดท้ายแล้วสถานการณ์จริง มันหนักหนาสาหัส เพราะติดง่ายแพร่ง่ายกว่าเดิมถึง 7 เท่า ทำให้จำนวนการติดเชื้อจริงในสังคมนั้นมากมาย ป่วยกันเยอะ และมีจำนวนคนที่ป่วยรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งมีทั้งคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และคนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว นอกจากนี้ คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็ติดเชื้อซ้ำอีกได้ด้วย
การตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดจริงว่าหนัก และป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจึงมีความสำคัญยิ่งนัก มิฉะนั้นปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID จะถาโถมเป็นระลอกเรื้อรัง ส่งผลกระทบยาวนาน ทั้งต่อผู้ป่วยเอง รวมถึงครอบครัว และประเทศ
งานวิจัยล่าสุดจากประเทศสเปน ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อระดับสากล BMC Infectious Diseases เมื่อวานนี้ 3 เมษายน 2565 ติดตามผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 29 คนที่มีอาการคงค้างต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังการรักษา โดยที่ 55% มีประวัติติดเชื้อโดยมีอาการเพียงเล็กน้อย
สาระสำคํญที่พบคือ สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมไวรัสในเลือดของผู้ป่วยได้ถึง 45% ทั้งนี้สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมในเลือด ปัสสาวะ หรืออุจจาระ อย่างใดอย่างหนึ่งในผู้ป่วยได้ 51%
ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่มีอาการคงค้างต่อเนื่องนั้น ราวครึ่งหนึ่งรายงานว่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อสมรรถนะการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมาก
ผลการวิจัยนี้ แม้กลุ่มตัวอย่างจะไม่มากนัก แต่ชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 มีลักษณะที่กระจายไปทั่วร่างกาย (systemic infection) ไม่ได้ติดเชื้อจำกัดในระบบทางเดินหายใจเท่านั้น
ซึ่งหากเราติดตามองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จะพบว่าสอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ที่เจาะลึกศึกษาภาวะผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID และพบหลักฐานที่ทำให้นำมาซึ่งสมมติฐานการเกิดโรคหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องการตรวจพบไวรัสที่ยังคงติดเชื้อแฝงอยู่ในเซลล์ของอวัยวะต่างๆ (persistent infection), การติดเชื้อแล้วทำให้อวัยวะหรือระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติไปจากเดิม (dysfunction from viral damage), การเกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรังต่อเนื่อง (chronic inflammation), การทำให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (autoantibody), และการเสียสมดุลของเชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่อยู่ในทางเดินอาหารจนนำไปสู่ความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย (Dysbiosis)
ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แยกตัว หยุดเรียนหยุดงาน และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน
คนที่ติดเชื้อแล้ว ก็ยังต้องป้องกันตัว เพราะติดเชื้อซ้ำได้ และแม้รักษาหายแล้วในช่วงแรก ก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหา Long COVID จึงควรหมั่นประเมินสุขภาพของตนเอง หากผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา
อ้างอิง
Tejerina, F., Catalan, P., Rodriguez-Grande, C. et al. Post-COVID-19 syndrome. SARS-CoV-2 RNA detection in plasma, stool, and urine in patients with persistent symptoms after COVID-19. BMC Infect Dis 22, 211 (2022).
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอธีระ ชี้! โควิดไทย ยังระบาดรุนแรง ติดเชื้อใหม่ลิ่วอันดับโลก ประกาศโรคประจำถิ่นเป็นไปได้ยาก
- หมอธีระ เผย ไทยพบ หมา แมว ติดเชื้อโควิด19 แล้ว
-หมอธีระ เผย นิวซีแลนด์ฉีดเข็ม 3 ไฟเซอร์ ชี้ วัคซีนยอมรับสากล ไม่ต้อง ไขว้ ให้ปวดหัว
Advertisement