Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
"ฝีดาษลิง" แต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันอย่างไร สายพันธุ์ไหนมีความรุนแรงของโรคสูง ความคืบหน้า "วัคซีนฝีดาษลิง"

"ฝีดาษลิง" แต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันอย่างไร สายพันธุ์ไหนมีความรุนแรงของโรคสูง ความคืบหน้า "วัคซีนฝีดาษลิง"

22 ส.ค. 67
11:52 น.
|
381
แชร์

"ฝีดาษลิง" เหมือนหรือต่างจากโควิด-19 อย่างไร? ฝีดาษลิง หรือ Mpox สายพันธุ์ไหนมีความรุนแรงของโรคสูง ฝีดาษลิงติดต่อทางไหนบ้าง เผยความคืบหน้า "วัคซีนฝีดาษลิง"

สืบเนื่องจากการระบาดรุนแรงของ ฝีดาษลิง ในประเทศคองโก และมากกว่า 10 ประเทศในทวีปแอฟริกา โดยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา "องค์การอนามัยโลก" ประกาศให้ ฝีดาษลิง Mpox Clade Ib เป็น "ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ" (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) ซึ่งสถานะ PHEIC คือระดับการเตือนภัยสูงสุดของ WHO เพื่อให้มีการเร่งวิจัย จัดระดมเงินทุน วางมาตรการด้านสาธารณสุข และประสานความร่วมมือระดับโลกเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดดังกล่าว

ขณะที่ล่าสุดวานนี้ (21 ส.ค.67) กระทรวงสาธารณสุข แถลง พบผู้ป่วยสงสัย ฝีดาษลิง สายพันธุ์เคลด 1b หรือ Clade 1b รายแรกในไทย โดยย้ำชัดว่า ไม่ใช่ ฝีดาษลิง สายพันธุ์เคลด 2b แน่นอน

ฝีดาษลิง มีกี่สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันอย่างไร 

เชื้อไวรัสฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกากลางหรือ เคลดวัน (Clade I)
และ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก หรือ เคลดทู (Clade II) ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์อาจทำให้เสียชีวิต แต่จากสถิติ สายพันธุ์เคลดวันจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า

สำหรับ ไวรัสฝีดาษลิง Clade lb เป็นสายพันธุ์ใหม่ มีการระบาดเพิ่มขึ้นในแถบแอฟริกา สายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้ง่ายและรุนแรงกว่าเดิม โดยสิ่งที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ มีผู้ป่วยเด็กเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว

"ฝีดาษลิง" เหมือนหรือต่างจากโควิด-19 อย่างไร? ความคืบหน้า "วัคซีนฝีดาษลิง"

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ข้อมูลเกี่ยวกับความแตกต่างต่างระหว่าง ไวรัสฝีดาษลิง และ ไวรัสโควิด 19 และความคืบหน้าเรื่อง วัคซีนฝีดาษลิง โดยระบุว่า

"ผมโพสต์เรื่องนี้ไว้เมื่อ 2 ปีก่อนตอน Mpox รอบแรกมาใหม่ๆ วันนี้ขอนำมาโพสต์ซ้ำ และ ใส่ข้อมูล Update ว่าเรารู้อะไรมากขึ้น

มีคำถามเกี่ยวกับ วัคซีน mpox น่าสนใจครับ ถามว่าตอนนี้เรามีเทคโนโลยีหลายตัวทั้ง mRNA, viral vector, recombinant subunit ที่สามารถสร้างวัคซีนได้ไว ทำไมต้องไปนำไวรัสที่เก็บมาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วมาทำเป็นวัคซีน และ ที่สำคัญยังไม่แน่ใจด้วยว่าจะนำมาใช้ได้จริงหรือเปล่า แบบนี้เท่ากับว่าวิทยาศาสตร์ย้อนยุคกลับไปเทคโนโลยีตั้งต้นหรือเปล่า...

เป็นคำถามที่ดีมากๆ ครับ
จะตอบคำถามข้อนี้ได้ชัดขึ้นคงต้องแนะนำให้รู้จักตัว ไวรัสตระกูลฝีดาษลิง หรือ Poxvirus กันก่อน อนุภาคไวรัสของฝีดาษลิงมีขนาดใหญ่กว่าไวรัสโรคโควิด-19 มากพอสมควร และ ที่แตกต่างกันชัดเจนคือ ไวรัสโรคโควิด-19 มีกลไกการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ที่ชัด ตรงไปตรงมา ง่ายๆ คือใช้โปรตีนหนามสไปค์ที่อยู่บนผิวของอนุภาคไวรัสจับกับโปรตีนตัวรับบนผิวเซลล์ของโฮสต์ ถ้ามีวัคซีนที่ไปสร้างภูมิ หรือ แอนติบอดีต่อหนามสไปค์ไปยับยั้งกระบวนการจับกันดังกล่าว คือ จบ ไวรัสไปต่อไม่ได้ วัคซีนจึงมุ่งไปที่การสร้างสไปค์ให้ร่างกายรู้จัก เพื่อสร้างแอนติบอดีให้สูงๆ

แต่ไวรัส mpox ไม่เหมือนกับโควิดหลายประการ ที่ชัดที่สุดคือ อนุภาคไวรัสตระกูลฝีดาษ มีอยู่ถึง 2 รูปแบบที่แตกต่างกัน โดยทั้ง 2 รูปแบบ สามารถติดเชื้อและสร้างเป็นไวรัสใหม่ในธรรมชาติได้ทั้งคู่

รูปแบบแรกชื่อว่า IMV หรือ MV ส่วนอีกรูปแบบนึง ชื่อว่า EEV หรือ EV ซึ่งทั้ง MV และ EV เป็นลักษณะของอนุภาคไวรัสที่สร้างออกมาแบบปนๆ กันจากเซลล์ที่ติดเชื้อ และพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณต่อในเซลล์ข้างเคียง หรือ ปลดปล่อยแพร่ไปหาคนอื่น จุดท้าทายคือ MV และ EV มีกลไกการติดเข้าสู่เซลล์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง จากภาพ MV จะมีโปรตีนอยู่บนผิวอยู่จำนวนนึง (โปรตีนสีเหลือง) ซึ่งเชื่อว่าทำหน้าที่คล้ายๆกับสไปค์ในการจับกับโปรตีนตัวรับ โปรตีนเหล่านั้นโดยหลักการแล้วคงสามารถนำมาพัฒนาเป็นวัคซีนต่อได้ แต่ EV ดันไปมีโครงสร้างของชั้นไขมันอีกหนึ่งชั้นมาหุ้ม MV ต่ออีก ซึ่งบนชั้นไขมันนั้นก็มีโปรตีนอีกชุดนึง (โปรตีนสีฟ้า) ที่ใช้ในการเข้าสู่เซลล์ได้เช่นกัน ซึ่งทุกวันนี้เรายังไม่ทราบเลยว่าโปรตีนชุดสีฟ้ามีกี่ชนิดอะไรบ้าง...ถึงจุดนี้คงนึกภาพออกว่า เราจะเอาอะไรไปทำเป็นแอนติเจนของวัคซีนดี โปรตีนเหลือง หรือ โปรตีนฟ้า หรือ ทั้งคู่ และ มีโปรตีนอะไรบ้างที่ต้องเอามาใส่ในวัคซีนถึงจะพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ...

วิธีการที่ดีที่สุดคือ เลียนแบบธรรมชาติ เราไม่ทราบว่ามีโปรตีนอะไรบ้างที่พอจะสร้างภูมิ แต่ธรรมชาติให้ไวรัสที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง เพียงพอต่อการกระตุ้นภูมิข้ามสามพันธุ์มาป้องกันไวรัสฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษคนในระดับสูงได้ ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการใช้ไวรัสตามธรรมชาติดังกล่าว แต่ด้วยคุณสมบัติที่อ่อนเชื้อลงในระดับที่รับได้ จึงทำให้ไวรัสเก่าแก่กว่า 40 ปี ยังต้องเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดอยู่ครับ

งานวิจัยล่าสุดจากทีม Pfizer ได้ทดสอบในสัตว์ทดลองคือหนูและลิงพบว่า การใช้โปรตีน 2 ตัวของ MV และ อีก 2 ตัวของ EV มารวมอยู่ในสูตรวัคซีน mRNA โดยโปรตีนดังกล่าวคือ A35 และ B6 ของ EV และ M1 และ H3 ของ MV ซึ่งถ้ามีแอนติบอดีต่อโปรตีน 4 ตัวนี้พร้อมๆกัน (จริงๆแล้ว H3 อาจจะไม่จำเป็นก็ได้) จะสามารถป้องกันลิงจากการเสียชีวิตหลังถูกฉีด Mpox clade I ได้ 100% ซึ่งเป็นข้อมูลที่ระบุว่า แอนติเจนสำหรับมุ่งเป้าป้องกันอาการรุนแรงของ mpox น่าจะเป็นอย่างน้อย 3 ตัวนี้

ขณะนี้วัคซีนแบบ multivalent อยู่ในเฟส 1 ซึ่งถ้ามีการเร่งเหมือนช่วงโควิด โอกาสได้นำมาใช้ในกรณีฉุกเฉินก็อาจเป็นไปได้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ฝีดาษลิง

• ฝีดาษลิง ติดได้ทางสารคัดหลั่ง ไอ จาม น้ำมูก แบบระยะประชิดกับผู้ติดเชื้อ ใกล้ใบหน้า
• สัมผัส จาน ชาม แก้วน้ำ แล้วนำมาขยี้ตา หรือ จมูก
• ติดยากกว่า โควิด-19
• แพร่ระบาดที่แอฟริกา ข้อมูลจากแอฟริกา พบอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย 4 ชั่วโมง เสี่ยงติดเชื้อ
• เชื้อแพร่จากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ เสี่ยงเกิดการแท้ง
• ผู้เสียชีวิต 70% เป็นเด็ก (ไม่มีภูมิคุ้มกัน)
• ผู้ติดเชื้อ Clade Ib หากเกิดตุ่มน้ำเหลือง จะแพร่ทั่วร่างกาย สังเกตง่าย
• กลุ่มที่ควรฉีดวัคซีนป้องกัน คือ บุคลากรทางการแพทย์ Sex worker ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศคองโก หรือพื้นที่เสี่ยง

ข้อมูล : Center for Medical Genomics , เฟซบุ๊ก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา, ศูนย์จีโนมทางการแพทย์

 

 

 

 

Advertisement

แชร์
"ฝีดาษลิง" แต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันอย่างไร สายพันธุ์ไหนมีความรุนแรงของโรคสูง ความคืบหน้า "วัคซีนฝีดาษลิง"