Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ไข้หวัดใหญ่ ป่วยสะสม-ตาย แซงโควิด เผยโรคเฝ้าระวังเดือน กุมภาพันธ์ 2568

ไข้หวัดใหญ่ ป่วยสะสม-ตาย แซงโควิด เผยโรคเฝ้าระวังเดือน กุมภาพันธ์ 2568

21 ก.พ. 68
12:26 น.
|
690
แชร์

ไข้หวัดใหญ่ระบาดแรง ป่วยสะสม-ตายสะสม แซงโควิด 19 เผย โรคเฝ้าระวังทางการระบาด เดือน กุมภาพันธ์ 2568

อัปเดตสถานการณ์ โรคไข้หวัดใหญ่ สถานการณ์โรคต่างๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดย แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ "กุมภาพันธ์ รู้ทันโรค รู้ทันภัย ป้องกันได้" พร้อมแนะวิธีป้องกันและดูแลตนเองให้ปลอดภัยห่างไกลโรค

โรคโควิด 19

ในปี 2568 มีผู้ป่วยสะสม 9,158 ราย กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อายุ 0 - 4 ปี รองลงมาอายุ 30 - 39 ปี และกลุ่มอายุ 20 - 29 ปี ตามลำดับ มีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้เสียชีวิต คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป สายพันธุ์ที่พบมากที่สุด คือ JN.1

โรคไข้หวัดใหญ่

มีผู้ป่วยสะสม 107,570 ราย เสียชีวิต 9 ราย โดยในปี 2568 นี้ มีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าปี 2567 กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี ซึ่งสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุดเป็น A/H1N1(2009) รองลงมาคือ B และ A/H3N2 ตามลำดับ พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่พบในโรงเรียน ปัจจุบันมียาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ที่ใช้รักษา และลดอาการรุนแรงของโรค แนะนำให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกๆ ปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

โรคปอดอักเสบ

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้ป่วยสะสม 65,777 ราย เสียชีวิต 49 ราย โดยในปี 2568 มีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าปี 2567 โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 0 - 4 ปี รองลงมาคือ อายุ 60 ปีขึ้นไป และอายุ 5 - 9 ปี ตามลำดับ ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ 50 - 59 ปี และอายุ 40 - 49 ปี ยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องเข้าไปในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ หากพบว่าป่วยเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ

โรคไข้เลือดออก

สถานการณ์ปี 2568 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 4.8 เท่า โดยมีผู้ป่วย 3,550 ราย ผู้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มวัยเรียน และอัตราป่วยตายสูงในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยคาดการณ์ว่าผู้ป่วยในปี 2568 จะต่ำกว่าปี 2567 เน้นย้ำให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำความสะอาดบ้าน ไม่ให้มีมุมอับทึบ พักผ่อนในห้องที่มีมุ้งลวด

หากมีผู้ป่วยในบ้าน หรือใกล้บ้าน ให้เจ้าหน้าที่ฉีดพ่นกำจัดยุงตัวเต็มวัยทั้งในและนอกบ้าน สังเกตอาการบุตรหลาน และผู้สูงอายุในบ้าน หากมีอาการไข้สูงลอยมากกว่า 2 วัน ทานยาพาราเซตามอล งดทานยากลุ่ม NSAIDs เช็ดตัวแต่ไข้ไม่ลด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีจุดผื่นแดงตามตัว ควรรีบไปพบแพทย์

โรคพิษสุนัขบ้า

สถานการณ์ปี 2568 มีจำนวนสัตว์พบเชื้อ 34 ตัว โดยมีการพบเชื้อในสัตว์สูงสุดที่จังหวัดขอนแก่น บุรีรัมย์ มหาสารคาม สงขลา และอุบลราชธานี มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้านั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงหน้าร้อนแต่พบได้ทั้งปี การป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการสัมผัส โดยใช้หลัก 5 ย. “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง”

ย้ำประชาชน หากพบโค กระบือ ป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และห้ามชำแหละซากเพื่อบริโภค เนื่องจากการชำแหละเนื้อสัตว์โดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน และการรับประทานเนื้อดิบก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ ทั้งนี้ หากถูกสุนัขกัด แม้พบแผลเล็กน้อยควรเข้าพบแพทย์เพื่อพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

โรคต่างประเทศที่ต้องจับตาเฝ้าระวัง คือ ไข้หวัดใหญ่ระบาดที่ญี่ปุ่น, ไข้หวัดนก

โรคจากต่างประเทศ ที่กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ โดยสถานการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น

ทางสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติญี่ปุ่นได้มีการรายงานว่า ระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2567 ถึง 26 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 9.52 ล้านราย เฉลี่ยวันละ 66,132 ราย และในประเทศไต้หวัน ระหว่างวันที่ 19 - 25 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เข้ารับการรักษาสูงถึง 162,352 ราย ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2567 จนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบผู้ป่วยอาการหนัก 667 ราย และเสียชีวิต 132 ราย โดยผู้ป่วยอาการหนักส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี โดยสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A ซึ่งพบสายพันธุ์ย่อยที่สำคัญสองชนิด คือ A(H1N1) และสายพันธุ์ A(H3N2)

โรคไข้หวัดนก สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคน และสัตว์ (สัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อ) ทั่วโลกยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ A(H5N1) ซึ่งติดต่อจากสัตว์มาสู่คน ทั้งนี้จากการรายงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้ป่วยสะสม 68 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยพบรายล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ หลังจากพบผู้ป่วยรายสุดท้าย เมื่อปี 2549 ทั้งนี้ ประเทศไทย มีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั้งในคน สัตว์และสัตว์ป่า รวมทั้งประเมินความเสี่ยง เน้นย้ำประชาชนไม่สัมผัสสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ป่วยตาย

วันสำคัญระดับสากลในเดือน มีนาคม 2568

ประเด็นเพิ่มเติม วันรณรงค์เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ กำหนดให้ วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ยุติการเลือกปฏิบัติสากลจึงขอเชิญชวนทุกคน ทุกภาคส่วน เป็นส่วนหนึ่งในการยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ ยอมรับ เคารพ รวมทั้งปกป้องและคุ้มครองสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้ารับบริการสุขภาพด้านการป้องกันและรักษาเอชไอวีโดยเร็วและต่อเนื่อง

วันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day) ทุกวันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี มีการกำหนดให้เป็นวันโรคอ้วนโลก (World Obesity Day)

ซึ่งในปี 2568 นี้ สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “Changing systems Healthier lives” ระบบดี สุขภาพดี ซึ่งมุ่งเน้นให้รัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ประชาชน ร่วมกันวันไตโลก (World Kidney Day)

โดย วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี ได้มีการกำหนดให้เป็นวันไตโลก ซึ่งในปี 2568 นี้ ได้มีการกำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “Are Your Kidneys OK? Detect Early, Protect Kidney Health” หมั่นดูแลไต ใส่ใจคัดกรอง ป้องกันโรคไต เพื่อมุ่งเน้นการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคไตตั้งแต่ระยะแรก รวมถึงการป้องกันเพื่อสุขภาพไตที่ดี

Advertisement

แชร์
ไข้หวัดใหญ่ ป่วยสะสม-ตาย แซงโควิด เผยโรคเฝ้าระวังเดือน กุมภาพันธ์ 2568