Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
รู้จักวิศวกร 4 แบบ คุมงานอะไรได้บ้าง? ตามกฎกระทรวงวิศวกรรมควบคุม2565

รู้จักวิศวกร 4 แบบ คุมงานอะไรได้บ้าง? ตามกฎกระทรวงวิศวกรรมควบคุม2565

18 เม.ย. 68
14:52 น.
แชร์

รู้จักวิศวกร 4 แบบ คุมงานอะไรได้บ้าง? ตามกฎกระทรวงวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565

ไม่ว่าจะผ่านกี่ยุคสมัย อาชีพวิศวกรก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมาโดยเสมอ เนื่องจากรายได้ที่ค่อนข้างสูงและมั่นคง แม้งานจะหนักและในบางครั้งต้องเผชิญเหตุการณ์ใหญ่ที่รุนแรงและมีความเสี่ยงมาก แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และมีบทบาทความรับผิดชอบที่สูงยิ่งต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในสังคม

ดังนั้นคนที่ประกอบอาชีพวิศวกร จึง "จำเป็น" จะต้องมี "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในประเทศไทย หรือใบ กว. วิศวะ" เพื่อใช้ประกอบการทำงานทางวิศวกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการด้านวิศวกรรม โดยจะต้องมีการอบรมและทดสอบด้านจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้านความปลอดภัย และด้านกฎหมาย เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ

ใบ กว. วิศวะ มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ของกฎหมายและการประกอบอาชีพ ซึ่งกฎหมายออกใหม่ ตามกฎกระทรวง กำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2565 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542 กำหนดให้ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกรแล้วเท่านั้น ดังนั้นการทำงานในตำแหน่งวิศวกรควบคุมโดยไม่มีใบอนุญาต ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย

โดยใบ กว. วิศวะ กำหนดงานในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม แบ่งออกเป็น 4 ระดับ แต่ละระดับมีขอบเขตการทำงานและความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. ภาคีวิศวกร สามารถออกแบบและคำนวณ ควบคุมการสร้างหรือผลิต ควบคุมการพัฒนาโครงการ ตรวจสอบงานก่อสร้าง และอำนวยการใช้ ที่ไม่ใช่งานซับซ้อน รวมถึงให้คำปรึกษา แนะนำ ตรวจสอบ หรือตรวจรับงาน เช่น

- อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร และมีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร

- โครงสร้างที่มีช่วงคานไม่เกิน 10 เมตร

- ทางหลวงท้องถิ่น ทางหลวงชนบท หรือทางหลวงที่มีความยาวไม่เกิน 20 กิโลเมตร

- งานชลประทาน ระบบป้องกันน้ำท่วม ทางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ และจัดหาน้ำ ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางกิโลเมตร

- งานก่อสร้างอื่น ๆ ที่ไม่ใช่งานซับซ้อน เช่น งานถนน งานระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น

2. ภาคีวิศวกรพิเศษ สำหรับผู้ที่ไม่ได้จบการศึกษาด้านวิศวกรรมโดยตรง แต่มีประสบการณ์ทำงานด้านวิศวกรรมและความรู้ในงานวิศวกรรมเฉพาะด้าน ซึ่งจะต้องสอบความรู้เฉพาะทาง ประเภทนี้จะมีการจำกัดเฉพาะสาขาและลักษณะงานที่ได้รับอนุญาต และจะต้องต่ออายุใบอนุญาตตามที่สภาวิศวกรกำหนด ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและประสบการณ์ ซึ่งใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกรพิเศษนี้จะอนุญาตให้ผู้ถือใบอนุญาตทำการก่อสร้างได้แค่ด้านใดด้านหนึ่งที่ขอไปเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นงานในระดับเล็ก ๆ เช่น สร้างสะพาน ถนน หรืออาคารขนาดเล็ก เป็นต้น

3. สามัญวิศวกร สามารถออกแบบและคำนวณ ควบคุมการสร้างหรือผลิต ควบคุมการพัฒนาโครงการ ตรวจสอบงานก่อสร้าง และอำนวยการใช้ ทั้งงานไม่ซับซ้อน งานซับซ้อน และงานพิเศษ รวมถึงให้คำปรึกษา แนะนำ ตรวจสอบ หรือตรวจรับงาน เช่น

- อาคารทุกประเภท

- โครงสร้างทุกประเภท

- งานทาง งานระบบขนส่ง และงานจราจร

- งานชลประทาน ระบบป้องกันน้ำท่วม ทางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ และจัดหาน้ำ

- งานก่อสร้างอื่น ๆ เช่น งานอุโมงค์ งานระบบป้องกันดินถล่ม งานระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น

4. วุฒิวิศวกร มีขอบเขตการประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกับสามัญวิศวกร แต่สามารถประกอบวิชาชีพในงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น หรืองานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษในการกำหนดรายละเอียด วางโครงการ ออกแบบและคำนวณ ควบคุมการสร้างหรือผลิต พัฒนาโครงการ ตรวจสอบงานก่อสร้าง หรืองานอำนวยการใช้ เช่น

- อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งต้องใช้ความรู้ความชำนาญสูง

- งานออกแบบโครงสร้างที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูงหรือซับซ้อน

- งานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ งานเขื่อน หรืองานชลประทานที่ซับซ้อน

- งานวางผังเมือง หรืองานออกแบบเมืองใหญ่

- งานวางแผนและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่

- งานอื่น ๆ ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสูง

วิศวะสาขาไหนบ้าง ที่ต้องมีใบ กว. วิศวะ

1. วิศวกรรมโยธา เกี่ยวข้องกับการออกแบบและก่อสร้างอาคาร สะพาน ถนน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

2. วิศวกรรมไฟฟ้า ครอบคลุมงานด้านระบบไฟฟ้า การสื่อสาร และอิเล็กทรอนิกส์

3. วิศวกรรมเครื่องกล เกี่ยวกับการออกแบบ ผลิต และบำรุงรักษาเครื่องจักรและระบบเชิงกล

4. วิศวกรรมอุตสาหการ เน้นการจัดการกระบวนการผลิตและการปรับปรุงประสิทธิภาพในอุตสาหกรรม

5. วิศวกรรมเหมืองแร่ เกี่ยวข้องกับการสำรวจ ขุดเจาะ และผลิตแร่ธาตุ

6. วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

7. วิศวกรรมเคมี เกี่ยวกับการออกแบบและควบคุมกระบวนการทางเคมีในอุตสาหกรรม

ประโยชน์ของการมีใบ กว. วิศวะ

1. เพิ่มโอกาสในการได้งานและความก้าวหน้าในอาชีพ เพราะบริษัทและหน่วยงานหลายแห่งกำหนดให้วิศวกรต้องมีใบ กว. เพื่อทำงานในตำแหน่งสำคัญ

2. สามารถลงนามในแบบแปลน แผนผัง และเอกสารทางวิศวกรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะในโครงการก่อสร้างหรืองานวิศวกรรมขนาดใหญ่ ต้องมีการลงนามรับรองแบบโดยวิศวกรที่มีใบอนุญาต

3. เพิ่มความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติงาน เพราะ ใบ กว. แสดงถึงการรับรองมาตรฐานความรู้และประสบการณ์จากองค์กรวิชาชีพ

4. มีสิทธิ์ในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามที่กฎหมายกำหนด สามารถรับผิดชอบงานวิศวกรรมที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของสาธารณะได้

5. สามารถเปิดบริษัทรับเหมาหรือที่ปรึกษาทางวิศวกรรมได้ เป็นโอกาสในการประกอบธุรกิจส่วนตัวในสายวิศวกรรม

6. โอกาสในการทำงานต่างประเทศ เพราะ ใบ กว. สามารถใช้เทียบเคียงกับใบอนุญาตวิชาชีพวิศวกรรมในต่างประเทศได้ในบางกรณี

7. การพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เพราะการรักษาสถานภาพใบอนุญาตต้องมีการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาวิชาชีพ ทำให้วิศวกรได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

เรียนจบวิศวะ ไม่ต้องสอบ ก็ขอใบ กว. วิศวะได้ จริงไหม?

"จริง" แต่มีเงื่อนไขว่า ผู้จบการศึกษาจากหลักสูตรที่สภาวิศวกรรับรองปริญญา สามารถขอรับใบอนุญาตระดับภาคีวิศวกรได้โดยไม่ต้องสอบ แต่ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1. สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรที่สภาวิศวกรรับรองปริญญา ต้องตรวจสอบว่าหลักสูตรที่เรียนได้รับการรับรองจากสภาวิศวกรหรือไม่

2. เป็นสมาชิกสภาวิศวกรประเภทสามัญ ซึ่งต้องสมัครเป็นสมาชิกสภาวิศวกรก่อน

3. มีหนังสือรับรองการทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพวิศวกรรมไม่น้อยกว่า 12 เดือน ออกโดยผู้ได้รับใบอนุญาตตั้งแต่ระดับสามัญวิศวกรขึ้นไป ในสาขาวิศวกรรมเดียวกันกับที่ยื่นคําขอ ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม คณบดี หรือ ตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่ากันของสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐหรือเอกชน

ที่มา :

ใบ กว. วิศวะ มีอะไรบ้าง ต้องมีไหม เข้าใจก่อนเลือกเรียน

ขอบเขตงานที่วิศวกรระดับต่างๆ ทำได้ แก้ไขใหม่

Advertisement

แชร์
รู้จักวิศวกร 4 แบบ คุมงานอะไรได้บ้าง? ตามกฎกระทรวงวิศวกรรมควบคุม2565