กรณีแฟนเพจเฟซบุ๊ก "จ๊อกจ๊อก" โพสต์เรื่องราวอุทาหรณ์เตือนภัยชาว LGBTQ หลังหนุ่มคนหนึ่ง ทราบชื่อ นายกี้ (นามสมมติ) อายุ 31 ปี โดนมิจฉาชีพที่แฝงมาในคราบคู่ขา ทราบชื่อนายคิม (นามสมมติ) หลอกให้นายกานต์ เป็นคนกลางขายไอโฟน 12 โปรแม็กซ์ ราคา 24,000 บาท ซึ่งหากขายจะแบ่งค่านายหน้าให้นายกี้ จำนวน 4,000 บาท เมื่อนายกี้เห็นเช่นนั้นก็เลยประกาศขายไอโฟนจนมีลูกค้าทักและโอนเงินเต็มจำนวนมาให้ นายกี้จึงโอนเงินให้นายคิม จำนวน 20,000 บาทและหักค่านายหน้าไว้ 4,000 บาทตามที่ตกลงกัน
แต่หลังจากนั้น พวกมิจฉาชีพกลับเงียบหายไป และไม่ส่งสินค้าให้ลูกค้า แม้นายกี้จะติดตามทวงเงินก็ไม่ยอมคืน ตลอดจนไม่สามารถตามตัวได้ นายกี้จึงรู้สึกเครียดเพราะเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของลูกค้า จึงตัดสินใจพึ่งชาวเน็ตประกาศตามหาตัวมิจฉาชีพ กระทั่งมีผู้หวังดีทราบชื่อ นายนาตาชา ได้พบเห็นว่านายคิม หรือมิจฉาชีพคนดังกล่าว กำลังเล่นแอปพลิเคชันหาคู่ จึงออกอุบายซ้อนแผนนัดเจอกับนายคิม ก่อนที่ผู้หวังดีจะจัดการรวบตัวมิจฉาชีพคนดังกล่าวได้ และยินยอมคืนเงินโดยดี
ล่าสุดวันที่ 5 เม.ย.65 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ได้พูดคุยกับนายกี้ เล่าให้ฟังว่า ในเบื้องต้นช่วงวันที่ 10 มีนาคม 65 ช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ตนเล่นแอปพลิเคชันหาคู่ แล้วมีชายคนหนึ่งใช้รูปโพรไฟล์ลักษณะส่วมแว่นตาดำ กางเกงขาสั้น ทักมาเพื่อติดต่อนัดเจอ พร้อมเสนอเงินจำนวน 3,000 บาท แลกกับการนอนด้วยกัน แต่ตนไม่มั่นใจและไม่กล้าพอที่จะไปเจอ แต่อีกฝ่ายพยามตื๊อและมีการแลกอินสตาแกรมซึ่งกันและกัน
กระทั่งคุยกันประมาณ 5 วัน ซึ่งไปตรงกับวันที่ 15 มีนาคม 65 ฝ่ายมิจฉาชีพเสนอให้ตนช่วยปล่อยมือถือโทรศัพท์มือถือไอโฟน 12 โปรแม็กซ์ 128 GB สีน้ำเงิน ราคา 24,000 บาท โดยเขายื่นข้อเสนอเป็นเงินค่านายให้ตน 10 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเปลี่ยนเป็น 4,000 บาท ตนเลยตัดสินใจโพสต์ขายผ่านไอตี และเฟซบุ๊ก จากนั้นวันที่ 17 มีนาคม 65 มีลูกค้าที่รู้จักกันในไอจีทักแชตตกลงกันในราคา 24,000 บาท
ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 65 ลูกค้าโอนเงินก้อนแรก จำนวน 12,000 บาท และวันที่ 20 มีนาคม 65 ก็โอนอีกจำนวน 12,000 บาท รวมทั้งสิ้น 24,000 บาท ในวันเดียวกันตนก็โอนเงิน จำนวน 20,000 บาท ไปให้กับมิจฉาชีพตามที่ตกลงกัน อีกฝ่ายก็บอกว่าจะส่งของมาให้พร้อมเลขพัสดุในวันที่ 21 มีนาคม 65 แต่ถึงวัดนัดรับของมิจฉาชีพก็เงียบหายไป และบ่ายเบี่ยงที่จะตอบแชตของตน หลังจากนั้น 2-3 วัน เขาก็บล็อกทุกช่องทางการติดต่อจากตน
"ตอนนั้นผมยอมรับเครียด และทำใจว่ายังไงก็โดนหลอกอยู่แล้ว ซึ่งทางน้องคนที่ซื้อเองก็ตามเรื่องมาที่ผมตลอด ผมเลยต้องหาวิธีทางแก้ปัญหา ตัดสินใจโพสต์เรื่องราวไปที่เพจจ๊อกจ๊อก ในวันที่ 3 เมษายน 65 จึงมีพลเมืองดีท่านหนึ่งใช้ชื่อว่า นาตาชา ส่งข้อความาหา แล้วนัดแผนทักไปในแอปพลิเคชันหาคู่ พร้อมนัดเจอกับมิจฉาชีพ" นายกี้ กล่าว
ทั้งนี้ พลเมืองดีจึงวางแผนกับเพื่อน 2-3 คน ไปตามนัดซึ่งเป็นพื้นที่ริมบึง กระทั่งอีกฝ่ายปรากฏตัวสวมชุดกีฬา และจักรยานยนต์ 1 คัน ก่อนที่พลเมืองดีจะทำการล็อกตัว และวิดีโอคอลมาหาตนเพื่อเช็กว่าใช่คนเดียวกับคนที่โกงเงินไปหรือไม่ ขณะนั้นตนน้ำตาไหล รู้สึกเสียใจปนดีใจ เพราะไม่คิดว่าจะเจอตัวมิจฉาชีพ เขาอ้างว่าเอาเงินไปหมุน แต่ไม่บอกรายละเอียด สุดท้ายพลเมืองดีตัดสินใจเอาโทรศัพท์ของมิจฉาชีพไปขาย จำนวน 24,000 บาท ซึ่งตนอยากจะขอบคุณพลเมืองดีที่ยอมเสี่ยงขนาดนี้
นอกจากนี้ ตนยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นบทเรียนของตน ที่จะสอนให้รู้จักระมัดระวังคนในโซเชียลมีเดีย อย่าหลงเชื่อใจหรือเห็นแก่เงิน ส่วนตนก็ผิดที่เห็นว่าเขาจะแบ่งเงินให้ แต่ลืมไปว่ามิจฉาชีพสมัยนี้ค่อนข้างสร้างกลยุทธ์หลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่าจะระมัดระวังให้มากขึ้น หากถามว่าหลังจากนี้จะแจ้งความหรือไม่ ในใจของตนกำลังคิดว่าจะแจ้งเอาผิดเพื่อเตือนเป็นอุทาหรณ์หรือไม่ เพราะจากที่ตำรวจเช็กประวัติพบว่ามิจฉาชีพเคยมีประวัติอาชญากรรมทางพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และฉ้อโกงมาก่อน