ทำยังไงหากต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโควิด? รพ.ราชวิถี เผยวิธีกักตัวที่บ้าน กรณีไม่มีห้องแยกกัก
วันที่ 7 เม.ย.65 โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ แนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโควิด-19 ในการทำ Home Isolation กรณีที่ไม่มีห้องแยกให้กักตัวในบ้าน แต่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัวอย่างไรให้ปลอดภัย ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ โควิด-19
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน โควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงมากกว่าหมื่นรายต่อวัน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาล
ผู้ที่เข้าเกณฑ์กักตัวที่บ้าน
ในการทำ Home Isolation ได้แก่ ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการ , มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่รักษา และสามารถควบคุมได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ , มีอายุน้อยกว่า 75 ปี และยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง ทั้งนี้ แนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิดที่ทำ Home Isolation อาจปรับได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและด้านการควบคุมโรคประกอบกัน
สิ่งที่จำเป็นในการกักตัวที่บ้าน
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับการสนับสนุนเมื่อทำ Home Isolation ได้แก่ อุปกรณ์ประเมินอาการ เช่น
- ปรอทวัดไข้
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เพื่อประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดว่าปกติดีหรือไม่ โดยค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 96-100% ถ้าตัวเลขอยู่ที่ 94% หรือต่ำกว่านั้น มีแนวโน้มที่เชื้อโควิด-19 จะลงปอดได้ ซึ่งอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง
- การประเมินอาการผ่านระบบเทเลเมด หรือ ระบบออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้
- การให้ยากับผู้ป่วยในแต่ละวัน (ประเมินตามอาการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์)
- อาหารสามมื้อ
- การติดตามประเมินอาการ รวมทั้งการให้คำปรึกษา
ทั้งนีสิ่งสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเอง วัดอุณหภูมิและวัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว 2–3 ครั้งต่อวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจ หอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่รับการรักษาอยู่
และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาโรงพยาบาล แนะนำให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถที่โรงพยาบาลมารับ ไม่ควรใช้รถโดยสารสาธารณะ และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา หากใช้รถยนต์ส่วนตัวขอให้ยึดแนวทางป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด จัดให้ผู้ป่วยนั่งในแถวหลัง เปิดกระจกในรถเพื่อควบคุมทิศทางลมให้ไหลออกไปนอกรถ เป็นการลดความเสี่ยงในการหมุนวนของอากาศ เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางไปด้วย
วิธีกักตัวที่บ้าน กรณีไม่มีห้องแยกกักตัว
นายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการปฏิบัติ กรณีที่ไม่มีห้องแยกให้กักตัวในบ้าน แต่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัว ควรปฏิบัติดังนี้
1.ขอให้ทุกคนที่อยู่ในห้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และยึดแนวทางการป้องกันตนเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
2.แบ่งเขตพื้นที่ส่วนผู้ที่เป็นและส่วนผู้ที่ไม่เป็นแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
3.จัดหาพัดลมวางไว้ในห้องและเปิดตลอดเวลา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางลมให้ไปออกที่หน้าต่างฝั่งที่ใกล้กับส่วนผู้ที่เป็น ซึ่งจะทำให้พื้นที่ของส่วนผู้ที่ไม่เป็นปลอดภัยเนื่องจากอยู่เหนือลม โดยมีพื้นที่กำหนดพิเศษที่จะให้ผู้ที่เป็นสามารถผ่านเข้ามาได้เฉพาะกรณีวางของหรือออกจากห้องเท่านั้น
4.กำหนดพื้นที่พิเศษสำหรับการจัดการกับสิ่งของหรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้แล้ว โดยขอให้ผู้ป่วยนำของใส่ในถุง พ่นด้วยแอลกอฮอล์ข้างในก่อนปิดปากถุง เมื่อวางแล้วให้พ่นแอลกอฮอล์ซ้ำที่ตรงปากถุงด้านนอก ส่วนผู้ที่จะนำไปจัดการต่อจะต้องใส่ถุงมือ โดยพ่นแอลกอฮอล์ที่ด้านนอกถุงอีกครั้ง เมื่อนำถุงออกมาจากพื้นที่แล้ว ให้เปิดปากถุงแล้วแช่ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำผสมผงซักฟอกประมาณ 10-15 นาที ก่อนที่จะนำไปทำความสะอาดตามปกติ
5.เมื่อมีการสัมผัสสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน ขอให้มีการปฏิบัติตัวป้องกันตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยยึดหลัก “ไม่แพร่เชื้อ-ไม่ติดเชื้อ” ทั้งนี้ หากผู้พักอาศัยหรือผู้ดูแลมีอาการผิดปกติควรรีบตรวจหาเชื้อทันที
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอยง เปิดไทม์ไลน์ ระยะติดต่อ-เวลากักตัว หลังป่วยโควิด โอมิครอน
- ประกันสังคม ม.39 ติดโควิด-กักตัว ได้วันละ 80 บาท ม.40 มีเงินชดเชย 3 ทางเลือก
- เผย 5 เกณฑ์ใหม่ส่งต่อ ผู้ป่วยโควิด เข้าโรงพยาบาล หากไม่เข้าเกณฑ์ให้รักษาแบบกักตัวที่บ้าน