จากกรณีเด็กผู้หญิงอายุ 14 วางแผนฆ่าแม่ร่วมกับแฟนหนุ่มที่อายุ 16 ปี ซึ่งได้สร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก
วันที่ 9 เม.ย. 65 เวลา 18.30 น. นางมาลัย (นามสมมติ) อายุ 51 ปี น้องสาวของผู้ตาย เดินทางมาพร้อมหลานสาวและน้องกด วัย 16 ปี ลูกชายของผู้ตาย ที่น้องสาวรับเลี้ยงตั้งแต่ 7 เดือน เพื่อนำรูปหน้าศพมาเตรียมไว้ที่วัด บอกว่าหลังพ่อแม่เสียชีวิต พี่สาวหรือผู้ตายก็เปรียบเสมือนแม่ของตน เพราะเวลามีเรื่องทุกข์ใจอะไร ก็จะโทรไปขอคำปรึกษาตลอด แล้วตอนที่พี่สาวคลอดน้องกดได้ 7 เดือน ตนซึ่งเห็นว่าภาระที่พี่สาวต้องรับผิดชอบค่อนข้างเยอะ หาเช้ากินค่ำ ไหนจะลูกชายคนโต ไหนจะค่าเช่าห้อง ค่ากิน ค่าอยู่ ก็เลยยื่นมือเข้าไปช่วยด้วยการรับน้องกดมาเลี้ยงที่ จ.เชียงใหม่ โดยที่พี่สาวไม่ได้ขอร้องให้ช่วย
ส่วนกับผู้ก่อเหตุ ตนเคยเห็นแค่ครั้งเดียวคือตอนที่เขาคลอดออกมา แล้วหลังจากนั้นก็ไม่เห็น ไม่เคยพูดคุยกันเลย แต่พี่สาวมักจะโทรมาระบายเสมอว่าเครียดกับลูกสาวคนนี้มาก เพราะเป็นเด็กดื้อ พูดไม่ฟัง แต่ไม่เคยบอกว่าเขามีภาวะทางจิต ต่างกับลูกชายที่ได้รับบาดเจ็บ พี่สาวโทรมาชื่นชมกับตนเสมอว่าเขาเป็นคนดีมาก เสียสละทุกอย่างเพื่อน้องสาว โดยเฉพาะเรื่องเรียน ครั้งสุดท้ายที่ตนได้คุยกับพี่สาว พี่สาวส่งข้อความผ่านไลน์มาบอกว่าจะรีบทำงานวิจัยให้เสร็จ แล้วพาลูกทั้ง 2 คนกลับมาหาที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อฉลองเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่เมืองด้วยกัน ซึ่งตนก็ตั้งตารอมาก เพราะไม่ได้เจอพี่สาวเกือบ 1 ปีแล้ว แต่หลังจากเกิดเหตุ ตนทำใจเห็นข้อความเหล่านั้นไม่ได้ ทุกครั้งที่เปิดดูก็น้ำตาไหลตลอด ก็เลยตัดสินใจลบประวัติการสนทนากับพี่สาวทิ้งทั้งหมด
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนบอกแล้วว่ายังทำใจไม่ได้ โกรธคิดไม่ถึงว่าลูกสาวแท้ ๆ จะฆ่าแม่ผู้บังเกิดเกล้า ทั้งที่แม่ก็รักลูกสาวคนนี้มาก เช่นเดียวกับน้องกดที่หลังจากทราบข่าวก็กลายเป็นคนนิ่งเงียบ ซึมไปเลย และตนก็ยังไม่ให้อภัยหลานสาว เพราะมองว่าสิ่งที่ทำมันโหดร้ายเกินไป แต่ก็ขออโหสิกรรมให้ เพื่อให้ดวงวิญญาณของพี่สาวไปสู่ภพภูมิที่ดี
ทีมข่าวยังเดินทางมาพบ นายพงศกร รอดภัย ผู้สื่อข่าวอมรินทร์ ประจำจังหวัดสมุทรปราการ เจ้าของเพจ "ต้น ปราการ" เผยว่าตนได้มีโอกาสพูดคุยกับทางญาติพี่น้อง ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่าอยากจะนำศพกลับ จ.เชียงใหม่ แต่ปัญหาคือไม่มีรถรับศพ และมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
ส่วนตัวเป็นผู้สื่อข่าว และในเฟซบุ๊กมีคนติดตามค่อนข้างเยอะ และเล็งเห็นว่า เป็นเคสที่น่าช่วยเหลือจริง ตนจึงอาสาที่จะนำบัญชีธนาคารของญาติไปโพสต์ และช่วยตามหารถกู้ภัยให้ หลังจากที่โพสต์ไม่นาน พี่กู้ภัยก็ติดต่อเข้ามา และสุดท้าย ทางกู้ภัยฉะเชิงเทรา จุดบสงคล้าก็ได้แสดงความประสงค์ว่าจะอาสาไปส่งเอง ส่วนยอดเงินบริจาคเพียง 1 ชั่วโมง มีคนบริจาคเข้ามากว่า 160,000 บาท ทางญาติมองว่าเงินจำนวนนี้พอแล้ว ตนเลยปิดโพสต์ แต่ผู้ใช้โซเชีย ลบางส่วนก็ยังโอนมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ตนอยากจะขอบคุณแทนน้อง เพราะตอนนี้สภาพจิตใจยังคงย่ำแย่ สำหรับกระแสสังคมที่ตามมาใครจะมองอย่างไร ไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่ว่าเราได้มีโอกาสช่วยเหลือเขา และในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่มากกว่าการทำข่าว อะไรที่พอจะช่วยได้ เราก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วย
"หนิง ปณิตา" เปิดเผยว่า ตนรู้สึกสะเทือนใจกับข่าวนี้มาก จนทำให้ตนต้องย้อนกลับไปมองว่าแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เด็กอายุ 14 ฆ่าแม่ได้มันคืออะไร และเกี่ยวข้องกับการเสพสื่อโซเชียลด้วยไหม เพราะบางทีมันก็มีผลมาจากการเสพสื่อที่มีความรุนเเรงอยู่ด้วย รวมถึงพ่อแม่อาจไม่มีเวลาที่จะดูแลและปล่อยให้เด็กได้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ เลยทำให้เด็กได้เกิดปมในใจบางอย่าง ซึ่งตามข่าวคือน้องอาจจะป่วย มีอาการทางจิต แต่จริง ๆ แล้วส่วนหนึ่งอาจจะมาจากครอบครัวด้วยหรือเปล่า แต่ตนไม่ได้จะว่าว่าครอบครัวไหนมีปัญหา แต่ในทุกวันนี้ข่าวที่ออกมามันมีแต่ในลักษณะแบบนี้ ข่าวลูกฆ่าแม่ หลานฆ่าปู่ฆ่าย่า เลยต้องทำให้เรากลับมาดูในเรื่องของครอบครัวการดูแลด้วยหรือเปล่า
ในสมัยก่อนการที่เด็กจะเสพสื่อออนไลน์ อาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนี้ และด้วยการพบปะเจอผู้คนมันเยอะกว่านี้ เลยทำให้มีเวลาในการที่จะบอกจะสอนเยอะกว่านี้ สำหรับตัวตนเองก็คิดว่า ส่วนหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากปมในใจของเด็ก แล้วปมนั้นมันถูกแก้ไขแล้วหรือยัง มันถึงจะแก้ไขปัญหานั้นได้ อีกส่วนหนึ่งตนเชื่อว่ามาจากการเสพสื่อออนไลน์ และสื่อโซเชียลที่มีความรุนแรง เพราะเดี่ยวนี้เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่ายมาก
ที่สำคัญเลยสำหรับเยาวชนหรือเด็ก ในเรื่องของความคิด ผู้ใหญ่แบบเราเราอาจจะคิดว่าเขาต้องรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี หรือมีการคิดแยกแยะวิเคราะห์ได้ แต่หากย้อนไปถ้าเป็นเราสมัยช่วงอายุเท่านั้น มันก็มีบางเรื่องที่เราคิดไม่ได้ เราก็ต้องได้รับความรู้ คำแนะนำจากพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือคนรอบข้างคอยบอกคอยสอน แต่ตอนนี้ที่โลกเรามันอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ เลยทำให้เขาสามารถเสพอะไรได้โดยไม่ได้คัดกรอง
ตนค่อนข้างเป็นแม่ที่ไม่ได้ปล่อยลูก คือให้น้องเสพโซเชียลฯได้แต่อยู่ในการควบคุมของเรา เรียนรู้ที่จะคุยกันไปด้วยกัน มันเลยจะทำให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองและตนที่เป็นแม่ก็จะได้รู้ด้วย เป็นจุดที่เยาวชนคิดไม่เหมือนผู้ใหญ่ บางที 10 ขวบคิดแบบนี้ 6 ขวบคิดแบบนี้ 5 ขวบคิดแบบนี้ หรือตอน 8 ขวบจะเข้า 9 ขวบคิดแบบนี้ ทั้งที่เป็นในเรื่องเดียวกัน เวลาผ่านไปคิดไปคนละแบบ เหมือนสมัยตนตอนวัยรุ่นที่ก็พร้อมลุยแหลกฉะแหลก พอโตขึ้นก็จะรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร และควรตอนเวลาไหนและไม่ควรตอนเวลาไหน เราก็เอาประสบการณ์เรามาสอนลูกเรา สุดท้ายแล้วความใกล้ชิดของคนในครอบครัวเป็นส่วนที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งทางตนเองก็สนิทกับลูกมาก เลี้ยงลูกให้เป็นเพื่อนที่สามารถแชร์เรื่องราวต่าง ๆ กันได้
ด้าน "บุ๋ม ปนัดดา" กล่าวถึงข่าวที่เกิดขึ้นว่า จากที่ตนทราบข่าวในฐานะที่ตนเป็นแม่ ตนรู้สึกจุกอก ที่แม่คนหนึ่งต้องการจะปรามลูกในขณะที่ลูกยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่อยากจะให้ลูกมีแฟน แม่จึงพูดและห้ามบ้าง แต่ก็จะมีพ่อแม่กลุ่มหนึ่งที่ไม่รู้ว่าต้องพูดกับลูกแบบไหน บางครั้งใช้คำหยาบคาย "อีนั้น อีนี่" จึงอาจสร้างความเก็บกดให้ลูก ดังนั้นเวลาเห็นข่าวแบบนี้ก็ไม่อยากให้ทุกคนนั่งด่าอย่างเดียว แต่อยากให้กลับมามองครอบครัวของตัวเองด้วยว่ามีการสอนการแนะนำกันอย่างไร
ส่วนตัวมองว่าเด็กก็ไม่ควรที่จะวางแผนกับแฟนได้ขนาดนี้ เป็นแฟนกันมันควรจะห้ามกัน ความรักที่ดีต้องมีความสุข และความรักที่ดีต้องสนับสนุนกันเดินไปข้างหน้า ตนเองหากลูกสาวจะมีแฟนก็ไม่ได้ห้าม แต่ขอแค่ให้ลูกบอกว่าตอนนี้ความสัมพันธ์เป็นอย่างไร หลายคนอาจจะมองว่าเยาวชนวางแผนกระทำกับบุพการีขนาดนี้ รับโทษไม่กี่ปีก็จะออกมาหรือเปล่า แต่บางทีศาลท่านก็มีการพิจารณาว่าเยาวชนบางคนมีพฤติกรรมความรุนแรงไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ก็อาจจะมีการพิจารณาในศาลผู้ใหญ่ เพราะมันเคยเกิดขึ้นแล้ว ถามว่าความผิดของเยาวชนถึงขั้นประหารชีวิตไหม ถ้าฆ่าด้วยการวางแผนและปฏิเสธก็อาจจะถึงขั้นนั้น แต่ถ้ามีการยอมรับสารภาพก็อาจจะถึงแค่ขั้นจำคุกตลอดชีวิต จะลดหย่อนก็ว่ากันไป
ทั้งนี้ ตนเองมีลูกสาว การพูดคุยกับลูกสาวเรื่องการมีแฟน เราก็คุยกับลูกตรง ๆ อยากให้เขาบอกเราทุกเรื่อง ซึ่งเราก็ไม่ได้ห้ามที่เขาจะมีแฟน บอกเขาด้วยว่าหากมีปัญหาอะไรให้คุยกับแม่ เพราะวัยรุ่นก็คือวัยรุ่น อาจจะยังไม่มีความยับยั้งชั่งใจ อาจจะพลาดอะไรบางอย่างก็ได้ เราก็บอกลูกว่าต้องรีบบอกนะ อย่ากลัวที่จะบอก จนเวลาล่วงเลยแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้
สุดท้าย อยากฝากถึงลูกทุกคนว่า พ่อแม่ทุกคนหวังดีกับลูกและอยากจะให้ความรักกับลูกทุกคน แต่บางทีการพูดของพ่อแม่ไม่ได้นุ่มนวลทุกคน อาจจะสร้างความเครียดและความกดดันให้กับลูก ๆ ดังนั้นต้องเป็นสังคมยุคใหม่ที่เปิดใจให้กัน เด็กยุคใหม่มีโลกโซเชียลในการติดต่อกับคนอื่นง่ายขึ้น ดังนั้นต้องคุยกันดี ๆ และรับผิดชอบตัวเองให้ได้ ทำให้พ่อแม่เห็นว่าเราเป็นผู้ใหญ่มากพอที่พร้อมจะมีแฟน โดยที่ดูแลกันและกัน ไม่ทิ้งหน้าที่ของตัวเอง แบบนี้จึงเป็นความรักที่ดีในวัยเรียน