“อนุทิน” ยืนยัน 9 มิ.ย.นี้ ประชาชนสามารถจดแจ้งปลูกกัญชากี่ต้นก็ได้ ขอให้ใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง คือ ด้านการแพทย์ เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ให้เกษตรกรปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน
วันนี้ (9 เมษายน 2565) ที่อาคารสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 10 โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อสม.และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมองเห็นศักยภาพของพืชกัญชาที่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ เป็นการส่งเสริมทางเลือกในการรักษาให้กับประชาชน รวมถึงเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ให้เกษตรกรปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน จากการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ในหลายเขตสุขภาพที่ผ่านมาพบว่ามีการพัฒนาในทิศทางที่ดีเป็นอย่างมาก นอกจากเป็นยารักษายังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำหรับเขตสุขภาพที่ 10 “มุกศรีโสธรเจริญราชธานี” มีจุดเด่น คือ มีนโยบายพัฒนาด้านเศรษฐกิจสุขภาพ นำกัญชากับสถานที่ท่องเที่ยวมาเป็นจุดขาย โดยจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชื่อมต่อสถานที่ปลูก ผลิตกัญชา กัญชง กับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด เช่น วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว กับ ด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี, ไร่กัญชามาทวีฟาร์ม กับผามออีแดง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ, ออร์แกนิค คาเฟ่ กาแฟสายสุขภาพ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร , ศูนย์แพทย์แผนไทยและแหล่งปลูกกัญชา กับพระเหลาเทพนิมิต อ.พนา จ.อำนาจเจริญ และโรงงานสมุนไพร กับ ทุ่งกังหันลม อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร เป็นต้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน และในจังหวัดได้อย่างมาก
ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน เน้นย้ำว่า กัญชา กัญชง มีประโยชน์มาก สามารถนำมาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้ เรากำลังเดินหน้าให้คนไทย สามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาโรคได้เช่นเดียวกับพืชสมุนไพรตัวอื่น แต่จะต้องมีกระบวนการควบคุมที่เหมาะสม
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เพื่อให้มีกฎหมายมาควบคุมเฉพาะ หลังจาก 120 วันที่กัญชาจะพ้นจากการเป็นยาเสพติด ประชาชนที่ต้องการปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ต้องขออนุญาต แต่เปลี่ยนเป็นมาจดแจ้งให้รัฐทราบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด ของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เมื่อเราได้ทำตามความประสงค์ของประชาชน คือ เอาต้นกัญชา ออกจากยาเสพติดแล้ว ขอให้ใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง และช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้ เพื่อนร่วมสังคมนำไปใช้ในทางที่ผิด นอกจากนี้ นายอนุทิน ยืนยันว่า วันที่ 9 มิถุนายน 65 ประชาชนจดแจ้ง ปลูกกี่ต้นก็ได้ ซึ่งมากกว่าที่เคยรับปากไว้ 6 ต้น
ด้าน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 10 ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ จ.มุกดาหาร จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี มีโรงพยาบาลภาครัฐและคลินิกกัญชาทางการแพทย์ภาคเอกชน เปิดให้บริการรวม 68 แห่ง ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชาได้อย่างปลอดภัย โดยตั้งแต่ตุลาคม ถึงธันวาคม ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลภาครัฐในเขตสุขภาพฯ ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยากัญชารวม 4,537 ราย เป็นแผนไทย 4,202 ราย และแผนปัจจุบัน 335 ราย ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นโดยมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาแล้ว 11 แห่ง อยู่ระหว่างการขออนุญาต 19 แห่ง และแสดงเจตจำนงขอปลูกอีก 17 แห่ง มีสถานที่ผลิตตำรับยากัญชาที่ได้รับอนุญาต 2 แห่ง เป็นภาครัฐ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลพนา จ.อำนาจเจริญ และภาคเอกชน 1 แห่ง คือ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว จ.อุบลราชธานี