กรณีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “การชี้ที่เกิดเหตุของผู้เสียหาย” กับ “การตรวจค้นของเจ้าพนักงาน” มันคนละเรื่องนะครับ
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ ประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ระบุว่า ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิด หรือบริสุทธิ์, มาตรา 132 ระบุว่าเพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อการสอบสวน โดย 1. ให้ตรวจที่ทาง ตรวจรอยนิ้วมือ รอยนิ้วเท้า ทำภาพถ่าย แผนที่ เพื่อทำให้คดี แจ่มกระจ่างขึ้น และ อนุ 3 ในมาตรา 132 ระบุว่า ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการค้น โดยการปฏิบัติตามกฎหมาย นั่นก็คือการออกหมายค้น การค้นจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ผู้เสียหาย หรือพยานคนอื่นไม่เกี่ยว
ตนเองยังมองว่าพวกคุณมาค้นอะไรกัน เนื่องจากบางเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว คงไม่ทิ้งหลักฐาน เช่น ผม ขน ที่จะระบุตัวบุคคลได้ ไม่เจอแน่นอน ประเด็นสำคัญคือ ใช่ห้องนี้จริงหรือไม่ หากพนักงานสอบสวนตามผู้เสียหายให้มาดูสถานที่เกิดเหตุก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อมายืนยันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่เกิดเหตุหรือไม่ การเข้ามาชี้จุดเกิดเหตุก็คือการสอบปากคำ ซึ่งพนักงานสอบสวนก็จะสอบถามว่าจุดใด ผู้เสียหายก็จะชี้ และบันทึกภาพ คล้ายการพาผู้ต้องหาไปชี้จุดว่าห้องเปลี่ยนหรือไม่ เปลี่ยนจุดใดบ้าง เพื่อยืนยันว่าผู้เสียหายพูดจริงหรือเท็จ และตรวจสอบเจ้าของห้องต่อ
ในส่วนที่พนักงานสอบสวนอ้างว่ามีการค้นและไม่ให้บุคคลอื่นเข้าถูกต้อง แต่ถามว่าควรจะมีการชี้ที่เกิดเหตุกับผู้เสียหายด้วยหรือไม่ ผู้เสียหายสามารถทำได้ จากในคลิปที่มีการถูกเถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเพื่อนชายของผู้เสียหายอ้างว่ามีการโทรศัพท์ตามให้มาชี้จุด จึงทำให้กระบวนการดำเนินคดีสับสน ตนเองจึงตั้งคำถามว่าค้นหาอะไร ไม่มีอะไรที่มีประโยชน์แน่นอน หลักฐานในห้องตนเองเชื่อว่าไม่มี ส่วนผู้เสียหายพูดแล้วจะเชื่อได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง หากให้ผู้เสียหายชี้ที่รูป ต่อไปนี้คดีอื่น ๆ ก็ให้ผู้ต้องหาชี้ที่รูปได้
ที่ตนเองโพสต์ คือพยายามบอกพนักงานสอบสวน เข้าใจว่าคงมีแรงกดดัน ทั้งจากฝ่ายการเมือง สื่อมวลชน จึงทำให้สับสน ตนเองจึงพร่ำบอกกับลูกศิษย์ที่สถาบันส่งเสริมงานสอบสวนว่าหากทำคดีไม่ชัดเจน จะมีผลตามมาตรา 227 ว่าอย่าพิพากษาลงโทษจำเลย จนกว่าจะเชื่อว่าจำเลยกระทำผิดจริง ดังนั้นเป้าหมายของการสอบสวน คือการทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัด ความยุติธรรมก็เกิด กระบวนการคดีดังกล่าว นักกฎหมายหลายท่านจึงเป็นห่วงกระบวนการยุติธรรมว่าเอนเอียงหรือไม่ การออกหมายจับ ทำไมมีคนบอกล่วงหน้า ทั้ง ๆ ที่ต้องเป็นความลับ ตนเองจึงเป็นห่วงกระบวนการการทำงานของกระบวนการยุติธรรมมากที่สุด “ยิ่งทำแบบนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเสียหาย” โดยที่บางคนบอกว่าไม่มีพยาน คนที่ถูกกระทำนั่นแหละคือพยาน จะเชื่อได้หรือไม่ เป็นคนละประเด็น
ยกตัวอย่างกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนล่วงละเมิดเด็ก เมื่อสอบสวนท่านไม่ได้ไปอยู่จุดดังกล่าวในวันที่เกิดเหตุ โดยจัดเลี้ยงอยู่ที่โรงแรม มีรูปถ่ายยืนยัน เท่านั้นก็จบ นี่คือความชัดเจน คดีนี้ต้องดูทั้งระบบ ซึ่งสมัยเป็นอัยการจังหวัดพัทยา เคยเกิดเหตุการณ์ ฝรั่งอนาจารล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงเด็กชาย 50-60 คน กว่าจะปิดคดีก็ยาก ฉะนั้นไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องจะเป็นไปได้ทั้งหมด การเป็นพนักงานสอบสวนขอให้นิ่งที่สุด