นพ.ธงชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้ช่วยออกกฎหมายในแง่ของการป้องกันการโฆษณากัญชาในทางสันทนาการ เช่น Ganja Night ในสถานบริการต่างไป การนำกัญชาไปในเชิงสันทนาการ
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายของทาง สคบ. ส่วนกรณีการป้องกันชาวต่างชาติที่อาจเข้าใจผิดว่าประเทศไทยใช้กัญชาเสรี ทางสถาบันกัญชาทางการแพทย์ จะดูแลเรื่องการให้ความรู้ประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการทำ Cannabis Literacy เป็นแนวทางการใช้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เรื่องการสูบ จะมีเรื่องของประกาศกลิ่นและควันกัญชากัญชงให้เป็นเหตุรำคาญ ดังนั้นจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่ารำคาญหรือไม่รำคาญ เพราะกฎหมายบอกว่าเป็นเหตุรำคาญเลย เจ้าพนักงานก็สามารถไปจัดการได้ ซึ่งอาจจะมีผู้ร้องเข้ามา หรือเจ้าพนักงานเห็นเองว่ามีควันและกลิ่นก็สามารถเข้าไปดำเนินการได้
“กรณีบุหรี่ ต้องมีการวินิจฉัยเรื่องเหตุรำคาญ แต่กลิ่นและควันกัญชา คือบอกเลยว่าใช่เหตุรำคาญ ตามมาตรา 25 (4) ของ พ.ร.บ.การสาธารณสุข ที่ประกาศเหตุรำคาญตามที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งอันนี้เรากำหนดกลิ่นและควันจากกัญชากัญชงไปเลย ส่วนอย่างอื่นอาจจะต้องแปลความว่ารำคาญหรือไม่ แต่หากมีกลิ่นและควัญกัญชากัญชงปุ๊บ ถือว่าเป็นเหตุรำคาญเลย” นพ.ไพศาลกล่าว
เลขาธิการ อย.กล่าวอีกว่า แม้จะกำหนดว่าสารสกัดที่มี THC น้อยกว่า 0.2% จะไม่เป็นยาเสพติด แต่การนำสารสกัดกัญชากัญชง หรือส่วนต่างๆ ของกัญชากัญชงมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ก็จะมีประกาศตามกฎหมายที่กำกับควบคุมผลิตภัณฑ์นั้นๆ กำหนดว่า ค่าความปลอดภัยต้องไม่เกินเท่าไร เช่น THC และ CBD ต้องไม่เกินเท่าไรในผลิตภัณฑ์ถึงจะปลอดภัยสำหรับกลุ่มบุคคลและวัยต่างๆ
ดังนั้นหากเป็นสารสกัดอยู่แล้วก็ค่อนข้างง่ายเพราะรู้ปริมาณ แต่หากเป็นส่วนประกอบ เช่น ใบ ช่อดอก ก็ต้องมีการตรวจวิเคราะห์ว่าสารสกัดไม่เกินตามที่ประกาศของแต่ละผลิตภัณฑ์กำหนด อย.ถึงจะอนุญาตให้ออกมาขาย เช่น เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาก็ต้องมีการวิเคราะห์ THC ว่าไม่เกินตามที่กำหนด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กัญชาเสรี ปลดล็อก 9 มิ.ย. นักโทษรับอานิสงส์ ราชทัณฑ์ปล่อยตัว 4,103 ราย