หมอยง เผย ผลการศึกษาฉีดวัคซีนโควิด แต่ละสูตร ในเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี พบ ตอบสนองได้ดีกว่าผู้ใหญ่ วัคซีนเชื้อตายช่วยลดผลข้างเคียง mRNA ได้
วันที่ 13 มิ.ย. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ ผลการศึกษา การให้วัคซีนในเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี ระบุว่า
ผลการศึกษาของศูนย์ ในการให้วัคซีนในเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปีในวิธีการให้ด้วยวัคซีนชนิดต่างๆได้ผลสรุปได้ดังนี้
1 การให้วัคซีนเริ่มต้นด้วย วัคซีนชิโนแวก ตามด้วย ไฟเซอร์ เข็ม 2 ที่ 1 เดือน ได้ผลไม่ด้อยกว่าการให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 2 เดือน ภูมิต้านทานจำเพาะต่อหนามแหลม ที่เป็น immunoglobulin G จะสูงกว่า แต่ ภูมิต้านทานรวม (globulin ที่รวม IgG IgA IgM) ในกลุ่มไฟเซอร์ จะสูงกว่า
2 ระยะเวลาห่างของสูตรไขว้จะเป็น 4 สัปดาห์ การให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มจะห่างกัน 8 สัปดาห์ โดยหลักการแล้วยิ่งห่าง ภูมิจะสูงขึ้นกว่า การใช้สูตรไขว้ระยะห่างเป็นเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น ได้ผลเร็วกว่าการให้ไฟเซอร์ ห่างกัน 2 เดือน
3 เด็กตอบสนองภูมิต้านทานได้ดีกว่าผู้ใหญ่อย่างชัดเจน
4 การให้วัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มในเด็ก 5 ถึง 11 ปี (ชิโนแวก หรือชิโนฟาร์ม) แล้วตามด้วย ไฟเซอร์ ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก เช่นเดียวกับการศึกษาในผู้ใหญ่ที่ผ่านมา สามารถป้องกันสายพันธุ์ omicron ได้ดี
5 การให้วัคซีนชิโนแวก 2 เข็มก่อน จะได้ภูมิสูงกว่าการให้วัคซีน ชิโนฟาร์ม 2 เข็มก่อน เช่นเดียวกับการศึกษาในผู้ใหญ่ที่ผ่านมา
6 ข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา การให้วัคซีน 2 เข็ม ระดับภูมิต้านทานไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้ถึง 3 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด ในเด็กก็เช่นเดียวกัน ไฟเซอร์ 2 เข็มก็ไม่เพียงพอ ต่อไปก็จะต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3
7 การให้วัคซีนเชื้อตายก่อน เป็นการหลีกเลี่ยงลดจำนวนการให้วัคซีน mRNA ให้น้อยลง อาการข้างเคียงของ mRNA จะเกิดขึ้นในเข็มที่ 2 และ 3 มากกว่าเข็มแรก
การศึกษานี้รอให้สมบูรณ์ รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เพิ่มขึ้น เหมือนกับที่เราทำในการศึกษาผู้ใหญ่ และจะได้เผยแพร่ในวารสารนานาชาติเป็นที่ยอมรับมาแล้วต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-"หมอยง" เผย "ฝีดาษลิง" แนวโน้มป่วยพุ่ง การระบาดคุมยากกว่าทุกครั้ง
-หมอยง คาด ฝีดาษลิง มีโอกาสเกิดในไทย แต่ไม่ระบาดใหญ่เหมือน โควิด19
-หมอยง คาด เด็กโตและผู้ใหญ่อาจติดเชื้อแล้วจำนวนมาก แต่ไม่แสดงอาการ