นายอำเภอพยุหะคีรี นครสวรรค์ รุดช่วย ลุงถูกแจ้งตายด้วยโรคปอดนาน 12 ปี เสียสิทธิใช้ชีวิต พร้อมคืนสถานะเหมือนประชาชนทั่วไป ตามตัวคนแจ้งตาย
จากกรณีการนำเสนอข่าวความทุกข์ร้อนของนายองอาจ บุญฤทธิ์ อายุ 65 ปี ชาวบ้านหมู่ 3 ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ที่กลายเป็นคนถูกแจ้งตายด้วยโรคปอด และมีใบมรณบัตรเป็นของตนเอง ทั้งที่ตนเองยังไม่ได้ตาย จนทำให้ชีวิตต้องทุกข์ทน ไม่สามารถออกไปหางานทำได้ แถมยังเสียสิทธิ์เสียโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากรัฐมาเป็นเวลานานกว่า 12 ปี จวบจนถึงบัจจุบันนี้ ก็ยังกลายเป็นคนที่ไม่มีบัตรประชาชน เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถช่วยเหลือในการยกเลิกการแจ้งตายได้ ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ 24 กรกฎาคม 2565 ว่าที่ร้อยตรีณรงค์ชัย จินดาพันธ์ นายอำเภอเมืองนครสวรรค์ พร้อมด้วยปลัดอำเภอ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงค์ธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ได้ร่วมกันเดินทางมาที่บ้านของนายองอาจ บุญฤทธิ์ ชายผู้ซึ่งมีใบมรณบัตรแต่ตัวไม่ได้ตาย เพื่อสอบถามถึงปัญหาความเดือดร้อน ร่วมถึงปัญหาเรื่องใบมรณบัตรที่ยังไม่สามารถยกเลิกการแจ้งตายได้ โดยมีผู้นำองค์กรส่วนท้องที่ ญาติพี่น้องของนายองอาจ เข้าร่วมให้ปากคำกับนายอำเภอนายกว่า 1 ชั่วโมง
หลังการพูดคุยกัน นายอำเภอเมืองนครสวรรค์ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ได้มีการสอบปากคำนายองอาจ รวมถึงผู้นำองค์กรท้องถิ่น ญาติพี่น้องของนายองอาจทั้งหมด พร้อมกับรวบรวมเอกสารทุกอย่าง ซึ่งก็ได้รวบรวมข้อมูลไว้ครบถ้วนหมดแล้ว ซึ่งขณะนี้ ก็ได้มีการประสานเรื่องไปยังอำเภอบางบัวทอง จ.นนทบุรี ด้วยแล้วเช่นกัน ในการเชิญตัวนายชูชาติ เดชกล้า ผู้ที่ไปแจ้งขอใบมรณบัตรนายองอาจ มาร่วมปากคำ ถึงสาเหตุการไปแจ้งตาย ซึ่งในส่วนนี้ ต้องรอให้ทางอำเภอบางบัวทอง ส่งหนังสือแจ้งกลับมาก่อน และคาดว่า น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 อาทิตย์ จึงจะสามารถคืนสถานะให้กับนายองอาจได้ตามปกติ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้น จากการตรวจสอบแล้วพบว่าในวันที่นายองอาจไปแจ้งขอต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชน แล้วระบบตรวจเจอว่า มีการใช้เลขประจำตัว 13 หลัก ของเจ้าตัวไปแจ้งตาย จึงทำให้ระบบตรวจพบแล้วล็อกทันทีตั้งแต่เมื่อปลายปี 2553
เมื่อถามถึงการดำเนินการเอาผิดคนแจ้งตาย นายอำเภอ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องดำเนินการสอบปากคำผู้ที่ไปแจ้งก่อน แต่เรื่องที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นไปได้เรื่องความผิดพลาดของข้อมูล เนื่องจากสมัยก่อน ต้องยอมรับว่า อาจจะมีบางส่วนที่ไม่พร้อม จึงอาจเป็นไปได้ว่าเมื่อตอนปี 2540 ผู้ที่เสียชีวิตจริง ได้มีการใช้ชื่อและนามสกุลเดียวกับนายองอาจ บุญฤทธิ์ แต่หลักฐานในการแสดงตัวต่างๆ นั้นไม่มี จึงทำให้คนที่ไปแจ้งตาย แจ้งแต่เพียงชื่อและนามสกุลเอาไว้ กระทั่ง เมื่อเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล ก็ได้มีการเอาเลข 13 หลัก ของนายองอาจไปใช้ลงประวัติการตาย จึงทำให้ฐานข้อมูลของนายองอาจถูกล็อก กลายเป็นคนที่ถูกแจ้งการเสียชีวิตไปโดยปริยาย