กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์หลังจีนพบผู้ป่วยติดเชื้อ "ไวรัสเลย์วี" ระบาดจากสัตว์สู่คน ซึ่งหนูผี อาจเป็นพาหะ ยังไม่มีรายงานติดจากคนสู่คน
เมื่อวันวันที่ 12 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศจีนได้เผยแพร่รายงานว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสเลย์วี (LayV) เป็นครั้งแรก ซึ่งผู้ติดเชื้อมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร อาศัยอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัดของมณฑลซานตงและเหอหนาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน คณะนักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อไวรัสเลย์วีมีแนวโน้ม แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน และได้นำสัตว์ป่ามาตรวจหาเชื้อไวรัสเลย์วี และพบการติดเชื้อในหนูผี (shrew) ร้อยละ 25 จากทั้งหมด 262 ตัว ผลวิจัยในครั้งนี้บ่งชี้ว่า หนูผี อาจเป็นพาหะในการแพร่เชื้อตามธรรมชาติ และยังพบสัตว์อื่นๆ ที่ติดเชื้อคือ แพะ ร้อยละ 2 และสุนัข ร้อยละ 5
“ไวรัสเลย์วีอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ไวรัสนิปาห์ (Nipah) และไวรัสเฮนดรา (Hendra) ซึ่งยังไม่มีหลักฐานพบการแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย ไอ เบื่ออาหาร และปวดกล้ามเนื้อ และยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสเลย์วี เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือมีอาการรุนแรง และไม่ควรตื่นตระหนกต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสดังกล่าว” นายแพทย์โอภาส กล่าว
ไวรัสเลย์วี (LayV) คืออะไร ?
สำหรับไวรัส เลย์วี หรือ LayV ชื่อเรียกเต็มๆ ของมันคือ “Langya henipavirus” อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ไวรัสนิปาห์ (Nipah) และไวรัสเฮนดรา (Hendra) เป็นเชื้อไวรัสที่มีการรายงานว่าติดจากสัตว์สู่คน โดยคาดว่ามีหนูผีเป็นพาหะ
"หนูผี" (Shrew)
"หนูผี" (Shrew) ที่ต้องสงสัยว่าเป็นพาหะในการนำเชื้อ เป็นสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับตัวตุ่น ถึงแม้จะมีหน้าตาที่คล้ายกับหนูก็ตาม และลักษณะของหนูผีจะมีหน้าที่เหมือนหนูขนาดเล็ก แต่แหลม พบได้ทั่วโลก