ไข้หวัดมะเขือเทศ ผวาลามเข้าไทย ศูนย์จีโนมฯ เผยอาการโรค-กลุ่มเสี่ยง

26 ส.ค. 65

ศูนย์จีโนมฯ เผยรายละเอียดโรค ไข้หวัดมะเขือเทศ ที่กำลังระบาดในอินเดีย แพร่เชื้อง่ายจากการสัมผัส แต่ยืนยันได้ว่าไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เผยแพร่ข้อความเรื่อง ไข้หวัดมะเขือเทศ ที่กำลังระบาดในรัฐเกรละ ประเทศอินเดีย เกิดจากไวรัสชนิดใหม่ใช่หรือไม่? โดยระบุว่า

จากการถอดรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างสวอบตุ่มแผลจากผู้ป่วยสองรายพบว่าเป็นไวรัส “คอกซากี A16 (Coxsackie A16)” ที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า และปาก (Hand, foot and mouth disease) มิใช่ไวรัสตัวใหม่แต่ประการใด

จากเหตุที่มีรายงานข่าวผ่านสื่อต่างๆ ไปทั่วโลกกรณีกระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้ออกมายืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อ ไข้หวัดมะเขือเทศในประเทศอินเดีย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 จนถึงขณะนี้พบแล้วถึง 82 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบการระบาดมากที่สุดในรัฐเกรละ (ซึ่งเป็นรัฐที่พบไวรัสโควิด-19 และ ไวรัสฝีดาษลิงระบาดมาก เช่นกัน) รองลงมาเป็น รัฐทมิฬนาฑู รัฐโอริสสา และรัฐหรยาณา

ไข้หวัดมะเขือเทศ อาการโรค

ไข้หวัดมะเขือเทศเป็นชื่อเรียกขานในท้องถิ่น เนื่องจาก หากติดเชื้อ ผู้ป่วยซึ่งเป็นเด็กเล็กจะมีผื่นแดงคล้ายมะเขือเทศ สร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกาย โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ง่ายเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัส เช่น การสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด หรือนำสิ่งของเข้าปาก แต่ปรากฏว่ามีเด็กหญิงอายุ 13 เดือนและพี่ชายอายุ 5 ขวบจากอังกฤษ บิดา มารดาได้พากลับไปเยี่ยมญาติที่อินเดีย เกิดมีผื่นขึ้นที่มือและขา เหมือนไข้หวัดมะเขือเทศ ใน 1 สัปดาห์หลังกลับจากรัฐเกรละ ประเทศอินเดียในเดือนพฤษภาคม 2022

จากการเยือนอินเดียเป็นเวลา 1 เดือน ครอบครัวนี้ได้รับทราบจากสื่อท้องถิ่นในรัฐเกรละรายงานเกี่ยวกับอาการป่วยลึกลับในเด็ก ซึ่งถูกขนานนามว่า ไข้หวัดมะเขือเทศ พ่อแม่เด็กแจ้งว่าลูกของเขาได้เล่นกับเด็กอีกคนหนึ่งที่เพิ่งหายจาก “ไข้หวัดมะเขือเทศ” หนึ่งสัปดาห์ก่อนจะเดินทางกลับอังกฤษ หลังจากกลับมาอังกฤษเด็กทั้งสองก็ป่วย มีอาการไข้ออกผื่น ลักษณะเดียวกับไข้หวัดมะเขือเทศ

ดร. จูเลียน ถัง จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ในสหราชอาณาจักรและเพื่อนร่วมงานได้ทำการสวอปตุ่มน้ำ และลำคอไปตรวจ “PCR” พบว่าไม่ใช่ไวรัสฝีดาษลิง แต่เป็นไวรัสในกลุ่มของ "เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus)" ที่ก่อให้เกิด “โรคมือ เท้า ปาก” และจากการถอดรหัสพันธุกรรมพบว่าเป็นไวรัส “คอกซากี A16 ” โดยมีรหัสพันธุกรรมคล้ายกับคอกซากี A16 สายพันธุ์ที่ระบาดในจีน มิใช่ไวรัสชนิดใหม่ หรือสายพันธุ์ใหม่แต่ประการใด โดยได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารการแพทย์ The Pediatric Infectious Disease Journal: August 19, 2022 - Volume - Issue - 10.1097/INF.0000000000003668 

สรุปได้ว่า โรคอุบัติใหม่ที่เรียกว่า ไข้หวัดมะเขือเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กจำนวนหนึ่งในเมืองเกรละ ประเทศอินเดีย จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมจากตุ่มแผลและลำคอจากเด็กเล็กสองคนพบว่าเป็นโรคมือ เท้า และปาก อันเกิดจากไวรัส "คอกซากี A16" ที่ระบาดในเด็ก มีอาการไม่รุนแรง โดยอาจเป็นไปได้ด้วยว่าบางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อจากไวรัสชิคุนกุนยาและไวรัสไข้เลือดออกที่มียุงเป็นพาหะ

"สำหรับชุดตรวจกรอง PCR ในประเทศไทย" ต่อไวรัสที่ก่อโรคมือ เท้า และปาก มีให้บริการอยู่แล้วใน รพ. ภาครัฐ และเอกชน หลาบแห่ง เนื่องจากโรคไข้ออกผื่นเกิดขึ้นเป็นประจำในเด็กเล็ก

หมายเหตุโรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease)

เกิดจากเชื้ออาร์เอนเอไวรัสขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 7411bp ในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ที่ติดต่อในคน (Human Enterovirus species A/HEV-A) โดยเฉพาะ คอกซากี A 16 (coxsakievirus A16) และ เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจาก HEV-A ชนิดอื่นๆ อีกได้ เช่น คอกซากี A2-8, 10, 12, 14 คอกซากี B และ เอ็กโคไวรัส (echovirus) บางชนิด พบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน อากาศเย็น และชื้น ทำให้มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และภายในปาก และสร้างความเจ็บปวด โดยผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับอาการป่วยอื่น ๆ ด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายป่วยภายในเวลาประมาณ 7-10 วันได้

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส