รองนายกฯ วิษณุ เป็นประธานในพิธีบรรจุอัฐิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ พร้อมกล่าวสดุดีแสดงความรำลึก และเยี่ยมชมหอประวัติ ณ สวนประวัติศาสตร์ฯ จังหวัดสงขลา
วันนี้ (26 สิงหาคม 2565) เวลา 09.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานมูลนิธิสวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานในพิธีบรรจุอัฐิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ณ สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ตำบลพะวง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา คณะผู้บริหาร ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในจังหวัดสงขลา เข้าร่วมพิธี
รองนายกรัฐมนตรี ชมการแสดงมโนราห์ โดย ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2564 ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และมหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวคำสดุดี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ว่า พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นชาวจังหวัดสงขลา เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 สำเร็จการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ต่อมาได้ย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบกและเข้ารับราชการทหารจนได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมสามสมัย ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 สิริรวมอายุ 99 ปี และหากมีชีวิตจนถึงวันนี้ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดก็จะมีอายุ 102 ปี
นอกจากนี้ ได้กล่าวรำลึกถึงคุณูปการของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในการบริหารราชการแผ่นดิน และการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม ทั้งในด้านระดับประเทศและระดับจังหวัดบ้านเกิด โดยในระดับประเทศ ได้มีผลงานทั้งด้านการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ได้ส่งเสริมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “กปร.” ด้านเศรษฐกิจ ได้ริเริ่มให้มีโครงการที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Development Program: ESB) ด้านสันติภาพ การทหาร และความมั่นคง เช่น สนับสนุนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การกำหนดนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ (การเมืองนำการทหาร) เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด จนมีผู้กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทยและเป็นบุคลากรคุณภาพของสังคมจนบัดนี้ ด้านการส่งเสริมการศึกษา การกีฬา และวัฒนธรรม เช่น กำหนดให้มีชุดพระราชทาน (เสื้อไทย) เป็นชุดประจำชาติ จัดสร้างพุทธมณฑลและพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล การก่อสร้างอาคารอนุสรณ์วีรชนแห่งชาติ (อนุสรณ์สถานแห่งชาติ)
รวมทั้งยังได้ริเริ่มแผนงานโครงการและกิจกรรมสำคัญในการพัฒนาจังหวัดสงขลาเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินถิ่นกำเนิด อาทิ การดำเนินการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้ ณ โรงเรียนมหาวชิราวุธ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของลูกเสือ และพสกนิกร ดำริให้มูลนิธิรักเมืองไทยรับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสงขลาไว้ในอุปถัมภ์ จำนวน 9 แห่ง บริจาคทุนทรัพย์ส่วนตัวสนับสนุนการจัดตั้งมูลนิธิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ปัจจุบันมีมูลนิธิแยกออกไป รวม 25 แห่ง นำดอกผลจากกองทุนและเงินบริจาคสมทบมอบเป็นทุนการศึกษา แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีความประพฤติดี ตั้งใจเรียน และขาดแคลนทุนทรัพย์ จัดสร้างศูนย์เรียนรู้ตำนานสมเด็จพระราชมุณีสามีรามคุณูปมาจารย์ (หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด) สงขลา จุดประกายวิสัยทัศน์สงขลา 2555 ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เรารักสงขลา” มุ่งแสวงหาแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยะยาว 15 ปี อย่างเป็นระบบ ให้จัดสร้างศูนย์ผ่าตัดหัวใจ 99 ปี รัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ไว้ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โครงการสะพานติณสูลานนท์ โครงการท่าเรือน้ำลึก โครงการพัฒนาตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร เป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ปัญหาความยากจนของจังหวัดสงขลา เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อตระหนักในคุณงามความดีและความซื่อสัตย์ สุจริต ของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ได้สร้างสรรค์ไว้ในแผ่นดินควรแก่การจารึกเกียรติประวัติไว้ให้อนุชนได้ศึกษาเรียนรู้ นำมาเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติ และรำลึกถึงความรัก ความเมตตากรุณา ที่มีต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณูปการต่อแผ่นดินและภูมิลำเนาบ้านเกิด อีกทั้งเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 จังหวัดสงขลาจึงได้กำหนดให้วันที่ 26 พฤษภาคม ของทุกปี อันตรงกับวันคล้ายวันถึงแก่อสัญกรรมของท่านเป็น “วันเกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” มุ่งหมายให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าในจังหวัดสงขลายึดเป็นวาระสำคัญในการรวม ร่วมใจกันพัฒนาจังหวัด เพื่อเป็นการสืบสานปณิธาน “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”
เสร็จแล้ว รองนายกรัฐมนตรี ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลอัฐิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อัญเชิญอัฐิบรรจุใต้ฐานอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะและอนุสรณ์รำลึกถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่กระทำบำเพ็ญแก่ชาวสวนสองเลและประเทศชาติตลอดไป
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำพวงมาลัยของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และภริยา วางบนแท่นบรรจุอัฐิของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ด้วย
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมหอประวัติ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งรวบรวมชีวประวัติ ผลงาน และสถานการณ์ต่าง ๆ ในช่วงที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ยังมีชีวิตอยู่ นำเสนอผ่านสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อร่วมรำลึกถึงคุณงามความดี ต้นแบบปูชนียบุคคลที่สำคัญระดับประเทศ ประกอบด้วย ห้องนายกรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีคนที่ 16) เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในช่วงที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2523-2531) ห้องสู่วังวนการเมือง นำเสนอสถานการณ์การเมืองในช่วง พ.ศ. 2520-2523 ในขณะที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องทางการเมือง และดำรงตำแหน่งในรัฐบาลขณะที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางทหารด้วย ห้องสู่อีสาน และผู้บัญชาการทหารบก นำเสนอบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วง พ.ศ. 2516-2523 เป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาค 2 ห้องทหารม้า นำเสนอช่วงชีวิตการรับราชการในเหล่าม้าของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ภายหลังการไปศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกอเมริกา ที่ฟอร์ท นอกซ์ มลรัฐเคนตักกี (พ.ศ. 2496-2497) แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนยานเกราะ (เกียกกาย กรุงเทพฯ) และเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า (เมื่ออายุ 48 ปี) การเป็นแบบอย่างของผู้บังคับบัญชาที่ดี และการนำพาองค์กรให้เจริญก้าวหน้า