ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา เปิดฉากปฏิบัติการซ้อมรบร่วมครั้งใหญ่ที่สุดในวันพฤหัสบดี (29 มิ.ย.) ส่งสัญญาณท้าทายจีน ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
การซ้อมรับครั้งนี้มีกำลังทหารจากทั้งสองประเทศเข้าร่วมกว่า 33,000 นาย ยังไม่นับรวมกับเรือรบ และ เครื่องบินขับไล่อีกจำนวนมาก
พลเรือเอก แฮร์รีย์ แฮร์ริส ผู้บัญชาการกลางกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบนเรือยูเอสเอส บอนฮ็อมม์ ริชาร์ด โดยระบุว่า สหรัฐฯรู้สึกยินดีที่การซ้อมรบร่วมกับออสเตรเลียในครั้งนี้ ได้ส่งสัญญาณไปยังชาติพันธมิตรของสหรัฐฯให้มีความมั่นใจว่าสหรัฐฯจะไม่หันหลังให้กับภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยัง “ศัตรู” ด้วยเช่นกัน แต่พลเรือเอกแฮร์ริส “ปฏิเสธที่จะเอ่ยชื่อประเทศจีนโดยตรง”
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้อ้างกรรมสิทธิ์และอธิปไตยของตนเหนือดินแดนเกาะแก่งเกือบทั้งหมดในน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่เป็นเส้นทางผ่านของเรือสินค้า ที่ทำหน้าที่ขนส่งสินค้าที่มีมูลค่ารวมสูงถึงปีละ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 170 ล้านล้านบาท) และยังเชื่อว่า เป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล
นอกจากการอ้างอธิปไตยเหนือเกาะแก่งตามธรรมชาติในทะเลจีนใต้แล้ว ที่ผ่านมาทางการจีนยังเดินหน้าสร้าง “เกาะเทียม” อีกหลายแห่งในน่านน้ำระหว่างประเทศแห่งนี้ที่กลายเป็น “พื้นที่พิพาท” ที่หลายชาติต่างอ้างกรรมสิทธิ์ทั้งบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมถึงไต้หวัน
ด้านเจมส์ เคอร์แรน ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและนโยบายต่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า แม้การซ้อมรบร่วมในครั้งนี้จะฉายภาพของความสัมพันธ์ทางทหารที่ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย แต่ก็ต้องยอมรับว่า การซ้อมรบขนาดใหญ่เช่นนี้ ย่อมสร้างความกังวลใจให้กับจีนอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ทั้งนี้ การซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯและออสเตรเลียในครั้งนี้ จะดำเนินต่อเนื่องนานกว่า 1 เดือน โดยจะมีทั้งการซ้อมรบทางทะเล ทางบกและทางอากาศ