ควบคุมโรค โคราช เตือน โรคฉี่หนูระบาดในภาคอีสาน พบผู้ป่วย 76 รายใน 4 จังหวัด เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ย้ำอย่าลุยน้ำ แช่น้ำ โคลนนาน
วันนี้ (27 ต.ค. 2565) นางเบญจมาศ อุนรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนหลายพื้นที่เกิดอุทกภัยและมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทั้งในบ้านเรือนและไร่นา ซึ่งปีนี้กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สคร.9 ได้เฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโรค โดยพบว่า โรคฉี่หนูใน 4 จังหวัด พื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 17 ต.ค. 2565 พบผู้ป่วยมากถึง 76 ราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยมากที่สุด 16 ราย , จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 13 ราย , จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 42 ราย กับเสียชีวิต 1 ราย และจังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 5 ราย ซึ่งกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี ,กลุ่มอายุ 45-54 ปี และกลุ่มอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ ส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อาชีพทางการเกษตร รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง และเด็กเล็ก
แต่เมื่อเทียบสถานการณ์โรคฉี่หนู ในปี 2564 ที่ผ่านมา กับปีนี้ พบว่าปีที่แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 17 ต.ค. 2564 เขตสุขภาพที่ 9 มีรายงานผู้ป่วยจำนวน 25 ราย แยกเป็นจังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 7 ราย ,จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 5 ราย ,จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 8 ราย และจังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 5 ราย ซึ่งในช่วงหน้าฝนปีนี้ ยังมีหลายพื้นที่เกิดอุทกภัย มีน้ำท่วมขังนานๆ ไปจนกระทั่งน้ำลดลง อาจมีการแพร่ระบาดของ “โรคฉี่หนู” หรือ “โรคเลปโตสไปโรสิส” ได้ เพราะเชื้อโรคจะปนเปื้อนมากับน้ำ ประชาชนจึงต้องระมัดระวังโรคฉี่หนูเป็นพิเศษ หากเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนูได้ง่าย โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอก และการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ
จึงขอให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุง รวมทั้ง หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากลุยน้ำ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมากบริเวณน่องและโคนขา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการดังที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้รักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคตามอาการ และวินิจฉัยความรุนแรงของโรคได้อย่างถูกต้อง