ไทยเปิดฉากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย สานต่อประเด็นการค้าการลงทุนและการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ

18 พ.ย. 65
วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้าย (APEC Concluding Senior Officials’ Meeting: CSOM) ถือเป็นการเริ่มต้นสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นทางการ โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสานต่อการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคทั้ง 4 ครั้ง ที่ได้จัดขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ ในเดือนธันวาคม 2564, เดือนกุมภาพันธ์ 2565, เดือนพฤษภาคม 2565 และเดือนสิงหาคม 2565 ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งสุดท้ายนี้ นายธานี ทองภักดี ประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดยมีนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย

 APEC 2022 1

APEC 2022 2

APEC 2022 3

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้น 2 วัน และแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นการประชุมวันแรกที่ครอบคลุมช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคมีการหารือร่วมกันในประเด็นด้านการค้า การลงทุน และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางด้านกายภาพและด้านดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นสำคัญที่ไทยมุ่งผลักดันในการประชุม APEC 2022 คือการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนทุกกลุ่ม และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทุกมิติอย่างไร้รอยต่อ โดยตัวอย่างประเด็นสำคัญของการประชุมในวันแรก ได้แก่ การหารือเรื่องแผนงานการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้มีความต่อเนื่อง รายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปคประจำปี 2565 ในหัวข้อ “การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยยั่งยืน” (Structural Reform and a Green Recovery from Economic Shocks) การริเริ่มทำงานตามแผนแม่บทด้านอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงข้อเสนอแนะจากคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (Safe Passage Taskforce)

 APEC 2022 4

APEC 2022 5

APEC 2022 6

ประเด็นการหารือเหล่านี้ ได้สะท้อนถึงการทำงานที่สำคัญของเอเปค เพื่อทำให้การหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) มีพลวัตรและเท่าทันความเปลี่ยนแปลง โดยถอดบทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค และฟื้นสร้างภาคการเดินทางและภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ แผนงานการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้มีความต่อเนื่อง และข้อเสนอแนะจากคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น คือส่วนหนึ่งของผลลัพธ์สำคัญในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นฟูและเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกันให้เอเปคสามารถรับมือกับวิกฤติการณ์และโรคระบาดใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง #APECพร้อมไทยพร้อม

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม