เตรียมตัวจะได้ไม่พลาด!! เช็กวิธีการยื่นภาษีเงินได้บุคคลออนไลน์ปี 65 แบบง่ายๆ ได้ที่นี่
เริ่มแล้วกับเทศกาลยื่นภาษีเงินได้ หน้าที่สำหรับคนไทยทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานฟรีแลนซ์ คือการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งต้องยื่นเงินได้ปี 2565 ภายในวันที่ 1 มกราคม-8 เมษายน 2566 เชื่อว่าแน่นอนมีหลายคนที่เป็นมือใหม่ ที่ต้องยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นครั้งแรก
ทีมข่าวอมรินทร์ทีวี ออนไลน์ขอสรุป วิธีการภาษีออนไลน์แบบง่ายๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมยื่นภาษี ในปีนี้ มาเช็คความพร้อมและขั้นตอนก่อนยื่นภาษี กันดีกว่า
- ก่อนอื่นให้เรามารู้จักคำนิยามของคำว่า “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”?
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ท่ีเกิดขึ้นในปีนั้นๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป
- แล้วใครบ้างที่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?
คนไทยทุกคนที่มีรายได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบ่งเกณฑ์ตามสถานะโสดและสมรส โดยมีรายละเอียดดังนี้
- คนโสดที่มีรายได้เป็นเงินเดือนตั้งแต่ 10,000 บาท ต่อเดือน (ภ.ง.ด. 91) หรือ 120,000 บาท ต่อปี รวมถึงคนโสดที่มีรายได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือน (ภ.ง.ด. 90) ตั้งแต่ 5,000 บาท ต่อเดือน หรือ 60,000 บาท ต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี
- คนที่สมรสแล้วที่มีรายได้เป็นเงินเดือน (ภ.ง.ด. 91) ตั้งแต่ 18,333 บาท ต่อเดือน หรือ 220,000 บาท ต่อปี รวมถึงคนที่สมรสแล้วที่มีรายได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือน (ภ.ง.ด. 90) ตั้งแต่ 10,000 บาท ต่อเดือน หรือ 120,000 บาท ต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี
โดยปกติการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะยื่นปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีถัดไป เช่น รายได้เกิดขึ้นในปี 2565 (ปีภาษี 2565) ต้องยื่นภาษีภายในวันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2566
หากเป็นเงินได้บางลักษณะ เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้องยื่นภาษีตอนกลางปี ภายในเดือนกันยายนของทุกปี
- ต้องใช้เอกสารใดในการยื่นภาษีบ้าง?
- หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) โดยเป็นเอกสารที่แสดงถึงรายได้รวมทั้งปี หลังจากหักชำระกองทุน หรือเงินทุนสำรองต่างๆ
- รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมไว้ทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ค่าเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษีเพื่อประกอบการกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี เช่น จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน เบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นต้น
- วิธีการยื่นภาษีออนไลน์แบบง่ายๆ
1.เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร คลิก และเลือก “ยื่นแบบออนไลน์” หากท่านใดยังไม่มีบัญชีให้กด “สมัครสมาชิก” ก่อน โดยระบบจะให้กรอกข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน (เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร) วันเดือนปีเกิด เลขหลังบัตรประชาชน ที่อยู่ อีเมล พร้อมสร้างรหัสผ่านเพื่อใช้ในการเข้าสู่ระบบ E-filing สำหรับยื่นภาษีออนไลน์
2.เข้าสู่ระบบ E-filing ของกรมสรรพากร
เข้าสู่ระบบ E-filing โดยการกรอกเลขบัตรประชาชนในช่องชื่อผู้ใช้งาน พร้อมกรอกรหัสผ่าน และกด “ตกลง” จากนั้นยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP 6 หลัก ผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือ
3.เลือกยื่นแบบภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91
อ่านและยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร จากนั้นกด “เข้าสู่ระบบ” และเลือก “ยื่นแบบ” ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90/91
4.กรอกข้อมูลผู้เสียภาษี
ตรวจสอบข้อมูลผู้เสียภาษี ได้แก่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด และสถานที่ติดต่อ จากนั้นเลือกสถานะ และกด “ถัดไป”
5.กรอกเงินได้
กรอกข้อมูลรายได้จากเงินเดือน โดยนำข้อมูลมาจากหนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) พร้อมกรอกเลขผู้จ่ายเงินได้ (เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทที่เราทำงานอยู่)
ทั้งนี้สำหรับคนที่เปลี่ยนที่ทำงานระหว่างปีให้ขอหนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) กับที่ทำงานเก่าเพื่อนำมากรอกข้อมูลยื่นภาษีเงินได้
และหากใครมีรายได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือน เช่น รายได้จากฟรีแลนซ์ รับจ้างทั่วไป และวิชาชีพอิสระ, รายได้จากทรัพย์สิน และการทำธุรกิจ, รายได้จากการลงทุน และรายได้จากมรดกหรือได้รับมา ให้กรอกข้อมูลลงไปด้วย
หลังจากกรอกข้อมูลเงินได้เรียบร้อยแล้วให้กด “ถัดไป”
6.กรอกค่าลดหย่อน
กรอกข้อมูลค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่มี เช่น ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา ค่าลดหย่อนบุตร เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ จำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF-RMF และเงินบริจาค เป็นต้น
หลังจากกรอกข้อมูลค่าลดหย่อนเรียบร้อยแล้วให้กด “ถัดไป”
7.ตรวจสอบข้อมูล
ตรวจสอบข้อมูลเงินได้และค่าลดหย่อนทั้งหมดที่ได้กรอกไป โดยระบบจะทำการคำนวณภาษีที่ต้องชำระให้อัตโนมัติ ซึ่งหากมีการชำระภาษีไปแล้วระบบจะแจ้งยอดที่ชำระเกิน โดยสามารถขอคืนภาษีที่ชำระเกินได้ รวมถึงนำเงินภาษีที่ชำระเกินไปอุดหนุนพรรคการเมืองได้
หลังจากตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้วให้กด “ถัดไป”
8.ยืนยันการยื่นแบบ
เมื่อตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนแล้ว กด “ยืนยันการยื่นแบบ” เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านช่องทางออนไลน์
แต่ทั้งนี้หากไม่สะดวกยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ ก็สามารถยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่ หรือส่งเอกสารให้หน่วยงานบริษัทที่สังกัดยื่นให้เช่นกัน ส่วนกรณีผู้ที่จะยื่นเอกสาร เสียภาษีแบบกระดาษ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 นี้