“หมอธีระวัฒน์” โพสต์งานวิจัย “ดีมั้ย อาบหรือว่ายน้ำเย็นเจี๊ยบ” ชี้วิธีนี้นักกีฬาที่บาดเจ็บ ต่างก็ใช้รักษา “เส้นเอ็น-กระดูก-กล้ามเนื้อ” มานาน
วันที่ 30 ม.ค. 66 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ดีมั้ย...อาบหรือว่ายน้ำเย็นเจี๊ยบ ในประเทศหนาว โดยเฉพาะในฤดูหนาวมีการว่ายน้ำเย็นจัด ถึงขนาดที่เปิดแผ่นน้ำแข็งและลงไปว่ายในน้ำที่อุณหภูมิ -2 ถึง 2 องศา หรือในระหว่างอุณหภูมิ 2.1 ถึง 5 องศา หรือ 5.1 ถึง 9 องศา เป็นต้น”
“เปรียบเสมือนเป็นการท้าทายร่างกาย ให้มีการปรับเปลี่ยนตัวให้ได้ ซึ่งรวมถึงทุกอวัยวะและสมองในการปรับให้มีการรักษาสมดุลความร้อนในร่างกาย”
“วารสาร international journal of circumpolar health เดือน ตุลาคม 2022 และเป็นการวิเคราะห์จากรายงาน 728 ชิ้น คัดเลือกจนกระทั่งเหลือ 104 ชิ้น ที่มีความสมบูรณ์และเหมาะสมในผลกระทบต่อสุขภาพ มีการลดลงของอัตราส่วนระหว่าง ApoB (ตัวไม่ดี) และ ApoA1 (ตัวดี) ปริมาณของ homocysteine ลดลง (หมายความว่าดี) ตลอดจนระดับฮอร์โมนคอร์ติโซลในเลือด ระดับอินซูลินและระดับของอันตรายจาก oxidative stress ลดลง”
“ในขณะเดียวกัน มีการเพิ่มของระดับฮอร์โมนหลายตัวของต่อมไทรอยด์ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระบบภูมิคุ้มกันในส่วนของ T cell รวมทั้ง cytokines และการตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น เป็นต้น ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น รวมทั้งกลไกในการเผาผลาญไขมันและการหายใจในขณะที่มีการทำงาน ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่สามารถสรุปว่า เป็นกลไกทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เต็มที่ เพียงแต่อาจมีข้อสนับสนุนของประโยชน์ที่จะได้รับ จากการเข้าไปกระโจน ว่าย อาบดำในน้ำเย็นเจี๊ยบ โดยควรต้องมีข้อระวังผลร้ายต่อสุขภาพที่ทำให้ร่างกายเย็นชืด (hypothermia) โดยต้องประเมินตัวเองก่อน”
“โดยที่ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ได้ให้คำแนะนำว่า ถ้าจะเริ่มน้ำเย็นแบบนี้ ลองเริ่มจากการอาบน้ำไม่ร้อน และในเมืองหนาวค่อยๆ ลดอุณหภูมิลงเรื่อยๆ เป็นเวลา 30 ถึง 60 วินาที จนชิน และมีความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องวอร์มอัพก่อน หรือเมื่อออกกำลังกายหนักแล้วตรงเข้าอาบน้ำเย็นเลย เมืองไทยเองคงยากนะครับ เพราะเป็นการอาบน้ำอุ่นหรือร้อนอยู่แล้วจากน้ำก๊อก เมื่อเริ่มอยู่ตัว ลองอาบน้ำโดยใส่น้ำแข็งเข้าไปปรับให้อุณหภูมิอยู่ที่ 10 ถึง 15 เซลเซียส ซึ่งวิธีนี้นักกีฬาที่บาดเจ็บไม่ว่าเส้นเอ็น กระดูก ข้อหรือกล้ามเนื้อ ต่างก็ใช้วิธีนี้มานาน หรือในหนังที่เราดูหลายเรื่องก็มีการฟื้นฟูการบาดเจ็บโดยลงไปในอ่างอาบน้ำที่ใส่น้ำแข็ง”