จากหมอสู่คนไข้ แพทย์หญิงแชร์ประสบการณ์ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดที่ดุและโตเร็ว

28 ก.พ. 66

แพทย์หญิงแชร์ประสบการณ์ป่วย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดหนึ่งที่ดุและโตเร็ว ใน 1 ปี จะมี 6,000 คนทั่วโลกที่ถูกวินิจฉัยด้วยโรคนี้

เฟซบุ๊กเพจ "พักก้อน" ของ "คุณลูกหมู" แพทย์หญิงวัย 28 ปี ได้โพสต์เล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิต จากหมอกลายมาเป็นคนไข้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิดหนึ่งที่ดุและโตเร็ว ที่ในหนึ่งปีจะตรวจพบ 6,000 คน จาก 8,000 ล้านคนทั่วโลก โดยระบุว่า ตนเริ่มต้นชีวิตในฐานะหมออย่างเป็นทางการในปี 2020 และเริ่มชีวิตในฐานะคนไข้โรคมะเร็งอย่างไม่ได้ตั้งใจ ปลายเดือนเมษายน ปี 2022 หลังวันเกิดครบรอบ 27 ปี 2 เดือน

ต่อมาคลำเจอก้อนที่คอที่โตเร็วมาก ไม่เจ็บ ไม่บวม ไม่แดง เลยเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจก่อนพบว่าป่วย "Diffuse large B-cell lymphoma" มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่ดุและโตเร็ว ใน 1 ปี จะมี 6,000 คน จาก 8,000 ล้านคนทั่วโลกที่ถูกวินิจฉัยด้วยโรคนี้

ก่อนเริ่มรักษา มีก้อนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตรอยู่ในช่องทรวงอกระหว่างปอดสองข้าง ใกล้กับหัวใจและพวงเส้นเลือดใหญ่ต่างๆ ที่รับเลือดเสียกลับเข้าหัวใจ และส่งเลือดดีออกไปเลี้ยงร่างกาย

6 เดือนผ่านไป หลังรับยาเคมีบำบัดตามรอบจนครบ ตอนนี้อยู่ในสถานะโรคสงบ ได้กลับมาทำงานเต็มเวลา ได้กลับมารักษาคนไข้ และได้เป็นว่าที่แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ ตามที่เคยฝันมาตลอดตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ปี 5

นอกจากนี้ คุณหมอท่านนี้ยังเผยอีกโพสต์ว่า ในฐานะหมอที่กลายเป็นคนป่วยเสียเอง มีความกังวลมากกว่าคนไข้ทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะเห็นมาตลอดว่าถ้าคนไข้มะเร็งได้ยาเคมีบำบัดแล้วมีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาการจะรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป เพราะฉะนั้นเวลาจะกินอะไร หรือจะทำกิจกรรมอะไร มักจะคิดภาพตัวเองนอนซมให้ยาฆ่าเชื้อใน ICU อยู่บ่อยๆ

ในช่วง 6 เดือนนั้น ตนเข้าห้องฉุกเฉิน 2 ครั้ง แต่ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงแก่ชีวิต ครั้งแรกที่บ้านพาไปส่งเพราะเพลียมาก หน้ามืด ความดันต่ำ ส่วนอีกครั้งคือท้องเสีย ปวดท้อง ระดับความปวด 10/10 พอไปตรวจจริงก็เป็นแค่อาการลำไส้แปรปรวน

เหตุการณ์นี้ทำให้เข้าใจคนไข้มากขึ้นว่าผู้ป่วยมะเร็งทุกคนต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่งและต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างขนาดไหน การต่อสู้กับผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด การต้องระวังตัวเองตลอดเวลาไม่ให้ป่วย แต่ละวันมันไม่เคยง่ายเลย และเข้าใจว่าทุกคำสั่งการรักษาที่เขียนไปมันส่งผลกระทบกับชีวิตคนไข้จริงๆ หลายอย่างมันง่ายกับคนเขียน แต่ลำบากคนทำ

แม้ว่าตอนนี้โรคจะสงบ กลับมาทำงานเป็นหมอเหมือนเดิมแล้ว สถานะคนไข้ก็ยังต้องติดตัวไปอีกหลายปี เพราะยังต้องเข้ารับการตรวจติดตามเป็นระยะ ตนผ่านอะไรมาเยอะมาก ทั้งผมค่อยๆ ร่วงเป็นกระจุกจนหมดหัว ปวดกระดูกจนนอนร้องไห้ กินอาหารแล้วไม่รู้รสชาติจนยอมแพ้ที่จะกิน อ่อนเพลียมากจนเดินได้วันนึงไม่กี่ก้าว พอมาคิดจริงๆ ก็ไม่ใช่เราคนเดียวหรอกที่เคยต้องผ่านเรื่องแบบนี้มา ตนได้เรียนรู้ที่จะมองคนไข้เป็นมากกว่างานที่ต้องทำให้เสร็จ มีหลายครั้งที่เลือกจะนั่งลงข้างเตียงคนไข้ที่เพิ่งรู้ว่าเป็นมะเร็งเพื่อพูดว่า "กินข้าวเยอะๆ นะคะ หมอรู้ว่ากินไม่อร่อยหรอก แต่ถ้าร่างกายเราแข็งแรง ผลการรักษาก็จะดีขึ้นนะ" คราวหน้าตนจะมาเล่าประสบการณ์การรับมือกับการสูญเสียผมหรือการใช้ชีวิตกับเส้นให้ยาเคมีบำบัดโดยไม่ติดเชื้อ

หลังโพสต์นี้เผยแพร่ออกมาก็มีคนเข้ามาให้กำลังใจคุณหมอจำนวนมาก และอวยพรให้คุณหมอแข็งแรง หายไวๆ และบางคนก็มาแชร์ประสบการณ์ป่วยโรคมะเร็งทั้งที่เกิดกับตัวเองหรือเกิดกับคนใกล้ตัว ซึ่งทำให้รู้ว่าโรคนี้อยู่ใกล้กว่าที่เราคิด

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส