25 จังหวัด ต้องระวัง ค่าดัชนียูวีสูงจัด 6-9 เมษายน อาจทำให้เกิดผิวหนังเกรียมแดด ส่งผลเสียต่อดวงตาในไม่กี่นาที และระยะยาวจะทำลาย DNA
วันที่ 5 เมษายน 2566 จากข้อมูลพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุด ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า วันที่ 5 เมษายน 2566 ภาคเหนือ ที่ จ.ตาก 41 องศาเซลเซียส, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ 38.4 องศาเซลเซียส, ภาคกลาง เขตบางนา กทม. 45.5 องศาเซลเซียส, ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี 45.8 องศาเซลเซียส และภาคใต้ จ.พังงา 43.3 องศาเซลเซียส ส่วนวันที่ 6 เมษายน 2566 ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ 40.6 องศาเซลเซียส, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ 41.5 องศาเซลเซียส, ภาคกลาง เขตบางนา กทม. 50.2 องศาเซลเซียส, ภาคตะวันออก ที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี 49.4 องศาเซลเซียส และภาคใต้ จ.ภูเก็ต 47.9 องศาเซลเซียส
สภาพอากาศที่ร้อนเกิน 41 องศาเซลเซียส จัดอยู่ในระดับอันตรายอาจทำให้มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะฮีทสโตรกได้ ดังนั้น ขอให้ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากต้องทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม และเมื่อเกิดอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว ให้รีบแจ้งบุคคลที่อยู่ใกล้เพื่อช่วยปฐมพยาบาลทันที
เนื่องจากอุณหภูมิที่ร้อนจัด เรื่องที่ต้องระมัดระวังคือ รังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ช่วงวันที่ 3-9 เมษายน 2566 กรณีท้องฟ้าโปร่งเวลา 12.00 น. มี 25 จังหวัด ที่มีค่าดัชนียูวีอยู่ในระดับสูงจัด (มากกว่า 11 ขึ้นไป) ซึ่งจะทำให้เกิดผิวหนังเกรียมแดด (Sun Burn) ส่งผลเสียต่อดวงตาได้ในเวลาไม่กี่นาที และระยะยาวจะทำลาย DNA ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง หนองคาย สกลนคร ขอนแก่น อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กาญจนบุรี มีค่าดัชนียูวี 11, กทม. จันทบุรี ชลบุรี มีค่าดัชนียูวี 12, ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา และนราธิวาส มีค่าดัชนียูวี 13
จึงควรหลีกเลี่ยงการออกแดดโดยเฉพาะช่วงเวลา 09.00-15.00 น. หากจำเป็นควรใช้เวลาให้น้อยที่สุด สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดด