“นิด้าโพล” เผยสำรวจครั้งสุดท้ายก่อน เลือกตั้ง66 “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” มาแรง คนอยากให้เป็นนายกฯ มากที่สุด หายใจรดต้นคอ “เพื่อไทย”
วันที่ 3 พ.ค. 66 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 3 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24-28 เม.ย. 66 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 2,500 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่าอันดับ 1 ร้อยละ 35.44 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) ร้อยละ 29.20 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) ร้อยละ 14.84 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) ร้อยละ 6.76 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) ร้อยละ 3 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ร้อยละ 2.48 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) ร้อยละ 1.80 ระบุว่าเป็นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) ร้อยละ 1.36 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) ร้อยละ 1.32 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) และ ร้อยละ 2.12 ระบุอื่นๆ
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2 เดือน เม.ย.66 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า น.ส.แพทองธาร, คุณหญิงสุดารัตน์, นายจุรินทร์, นายอนุทิน, นายกรณ์ และยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า นายพิธา, พล.อ.ประยุทธ์ และนายเศรษฐามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 38.32 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.96 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล ร้อยละ 12.08 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 4.28 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 2.92 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.68 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.56 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า และร้อยละ 1.36 ระบุอื่น
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2 เดือน เม.ย. 66 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคชาติพัฒนากล้า และยังไม่ตัดสินใจ มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่า พรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.92 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 35.36 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล ร้อยละ 12.84 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 3.32 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 2.36 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.68 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.28 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1.24 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 1 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า และร้อยละ 1.40 ระบุอื่น
เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2 เดือน เม.ย. 66 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคชาติพัฒนากล้า และยังไม่ตัดสินใจ มีสัดส่วนลดลง ในขณะผู้ที่ระบุว่าพรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
Advertisement