คาด “เอไอเอส-3BB” เดินตามไทม์ไลน์ 10 เดือน เหมือนเคส “ทรู-ดีแทค” รอตั้งคณะอนุฯ ที่ปรึกษาต่างประเทศ และ Focus Group 3 รอบ ตามเกณฑ์ กสทช.
จากกรณีการดีล เอไอเอส ซื้อ 3BB กำลังเป็นที่จับตามองจากทุกภาคส่วน โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม
ล่าสุดวันที่ 11 พ.ค. 66 ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด กสทช. ระบุว่า การพิจารณาของ กสทช. ต้องยึดบรรทัดฐานเดียวกับดีลควบกิจการทรู-ดีแทค จะไม่ประวิงเวลา แต่บอกไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไร ขณะเดียวกันหลายฝ่ายหวั่นองค์กรผู้บริโภคเพิกเฉย
ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และอดีต กสทช. กล่าวว่า จุดยืนส่วนตัว และองค์กรผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมอยู่แล้ว เพราะจะทำให้ตัวเลือกมีน้อยลง
แต่ประเด็นปัญหาคือ กสทช. ไฟเขียวให้การควบรวมไม่เป็นอำนาจของ กสทช. เมื่อกรณีที่ผ่านมาควบรวมได้ กรณีนี้ก็ต้องควบรวมได้ ในฐานะองค์ผู้บริโภคถ้า กสทช. วางบรรทัดฐานเอาไว้แล้ว กระบวนการฟ้องทางศาลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางลงมติของ กสทช. ว่าไม่มีอำนาจที่จะพิจารณา เป็นแค่การรับทราบ ต่อให้เราไม่เห็นด้วย เขาก็ทำได้ ผู้บริโภคจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อผู้กำกับดูแลไม่ทำงาน อันนี้เป็นโจทย์ของเรา กังวลว่าจะมีหลายเคสที่จะควบรวมตามมาอีก ผลกระทบจะเกิดกับผู้บริโภคแน่นอน
“ผู้บริโภคอยู่ในสภาวะที่พ่ายแพ้ เพราะเราแพ้ตั้งแต่ด่านแรก ที่ กสทช. บอกว่าไม่มีอำนาจ ฉะนั้นจึงไม่รู้จะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อ ตอนนี้ความหวังของเราอยู่ที่หลัง 14 พ.ค. ถ้าการเลือกตั้ง สร้างโมเมนตัมใหม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับ กสทช. จะเป็นโอกาสให้ผู้บริโภคได้เคลื่อนไหวสู้เรื่องการผูกขาดได้ สถานการณ์ก่อนเลือกตั้งเคลื่อนไหวอะไรไปก็แป๊ก เพราะ กสทช. ยืนยันไม่มีอำนาจ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้มีการตรวจสอบ กดดันที่จะทำให้กสทช. กลับมาใช้อำนาจของตัวเอง เราจะเคลื่อนไหวต่อว่าเราไม่เห็นด้วยกับการควบรวมทุกกรณี รวมทั้ง 3BB กับ เอไอเอส” น.ส.สุภิญญา กล่าว
ด้าน ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล กล่าวว่า ส่วนตัวมองที่ผลกระทบกับผู้บริโภคว่าจะมีตัวเลือกน้อยลงหรือไม่ ทำอย่างไรให้การแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันว่าจะต้องมีการแจ้งเตือนผู้บริโภคก่อน
อีกทั้งกรณี เอไอเอส กับ 3BB โครงสร้างพื้นฐานไม่เหมือนกัน เพราะไม่ใช่คลื่นความถี่ นอกจากการรวมกันจะยิ่งเกิดการแชริ่งเสา สาย โดยอัตโนมัติ ส่วนอินฟาสตรัคเจอร์แชริ่ง เช่น ถ้ารายใหม่จะมาขอเช่าโครงข่ายของ เอไอเอส กับ 3BB เพื่อไปให้บริการแข่งขัน ก็ต้องให้ เพื่อให้เกิดการดำรงการแข่งขันอยู่
ดร.เจษฎา กล่าวต่อว่า กรณีการรวมกิจการ เอไอเอส กับ 3BB เห็นว่าควรเป็นการควบรวมแบบมีเงื่อนไข หากไม่บังคับให้แชริ่ง เขาก็ไม่ยอมแชร์ ขณะเดียวกันการรวมสองแบรนด์ดังกล่าวย่อมทำให้มีอำนาจเหนือตลาด ถ้า กสทช. ใช้หลักแนวคิดเดียวกันเหมือน ทรู–ดีแทค ก็ต้องกำหนดเงื่อนไขผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายสามารถเช่าใช้โครงข่ายร่วมกับเขาได้ และมองว่ากรณีนี้จะไม่มีประเด็นให้ผู้บริโภคออกมาเคลื่อนไหวมากนัก เพราะผู้ใช้บริการน้อยกว่า
นอกจากนี้ แหล่งข่าวระบุว่า ดีล เอไอเอส ซื้อ 3BB ทาง กสทช. มีกระบวนการที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาหลายขั้นตอน เช่น
- การตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษา และวิเคราะห์การซื้อกิจการ
- การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group)
- การแต่งตั้งที่ปรึกษาอิสระ (ทั้งในและต่างประเทศ) เพื่อจัดทำความเห็นประกอบการรายงานการซื้อกิจการ
- กระบวนการอื่นๆ ตามที่ กสทช. เห็นสมควร เช่น การตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันผลการทบจากการซื้อกิจการ
ฟาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังเคยแสดงความเห็นบนเพจ “Pita Limjaroenrat-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า การควบรวมครั้งใหม่นี้จะส่งผลต่อค่าอินเทอร์เน็ตบ้าน เราคงต้องจับตากันว่า กรณีนี้ กสทช. จะมีมติออกมาเร็วๆ นี้หรือไม่ สำหรับพรรคก้าวไกลนั้นยืนยันว่า โอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายมือถือที่คุณภาพดีและราคาสมเหตุสมผล คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม การปล่อยให้ธุรกิจโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเหล่านี้มีแนวโน้มกระจุกตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเป็นผลเสียกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน และเป็นผลเสียกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หวังอย่างยิ่งว่า กสทช. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ให้ประชาชนกังขา