ประโยชน์ของ "สับปะรด" ผลไม้รสเปรี้ยวหวานที่อุดมไปด้วยสรรพคุณที่หลายคนยังไม่เคยรู้ พร้อมไขข้อสงสัยส่งผลต่อ "อสุจิ" จริงหรือไม่
หากจะเลือกรับประทานผลไม้สักหนึ่งอย่าง สับปะรด คงเป็นผลไม้ที่หลายคนนึกถึงอย่างแน่นอน ด้วยรสชาติหวานอมเปรี้ยวที่ทำให้รู้สึกสดชื่นเมื่อได้กิน ยิ่งแช่เย็นด้วยแล้วล่ะก็ยิ่งทำให้สดชื่นมากกว่าเดิมไปเป็นเท่าตัว แต่รู้ไหมว่า นอกจากกินเข้าไปแล้วจะได้รสชาติที่ดีพร้อมความสดชื่นแล้ว รู้หรือไม่ว่าประโยชน์ของ สับปะรด มีมากมายทั้งบำรุงตั้งแต่ภายนอกจนภายในร่างกาย
สำหรับ สับปะรด เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ หลายคนจึงเชื่อว่าการบริโภคสับปะรดอาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีได้ ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์จึงพยายามหาข้อพิสูจน์ถึงคุณประโยชน์ของสับปะรด เพื่อประสิทธิผลทางสุขภาพและการรักษาอันจะเป็นประโยชน์ในอนาคต
ในสับปะรดอุดมไปด้วย กรดซิตริก หรือ กรดมะนาว (Citric) และกรดมาลิก (Malic) ที่เป็นสารให้รสเปรี้ยว โดยมี กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic) หรือวิตามินซี ซึ่งมีประโยชน์ต่อการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกายรวมอยู่ด้วย
ส่วนอีกหนึ่งสารสำคัญที่พบในสับปะรด คือ เอนไซม์โบรมีเลน (Bromelain) ซึ่งเชื่อกันว่าสารนี้อาจช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารต้านการอักเสบ หรือกระทั่งมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกที่ผิดปกติ รวมถึงอาจช่วยชะลอการแข็งตัวของเลือดได้
ประโยชน์ของสับปะรด
- ในสับปะรดอุดมด้วยวิตามินซี ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายติดเชื้อยากและต่อสู้กับโรคต่างๆได้เป็นอย่างดี ช่วยบรรเทาอาการหวัด ขับเสมหะในลำคอได้
- สับปะรดช่วยย่อยอาหารจำพวกโปรตีนได้ เพราะมีเอนไซม์ธรรมชาติ คือ บรอมีเลน ที่ย่อยอาหารได้ทั้งสภาวะกรดและด่าง จึงช่วยลดอาการจุกเสียด แน่นท้องได้ อีกทั้งยังสามารถนำสับปะรดมาหมักเนื้อสดได้ เพื่อทำให้เนื้อนุ่มอีกด้วย
- เอ็นไซม์บรอมีเลน ช่วยฆ่าเชื้ออ่อนๆ ช่วยทำลายแบคทีเรียที่ไม่มีประโยชน์ และยังช่วยสมานแผล ลดการอักเสบของกระเพาะอาหารและลำไส้ได้
- ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านม โดยบรอมีเลนจะทำให้เม็ดเลือดขาวหลั่งสารไซโตไคน์ ซึ่งช่วยให้เม็ดเลือดขาวกำจัดเซลล์มะเร็งได้
- สับปะรดช่วยบรรเทาอาการร้อน กระสับกระส่าย กระหายน้ำ กินได้ทั้งแบบสดและปั่นเป็นน้ำสับปะรดก็ได้
- สับปะรดมีใยอาหาร ช่วยในการลดน้ำหนัก กินหลังมื้ออาหารทั้งกลางวันและเย็นจะช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม
- สับปะรดมี วิตามินบี 1 และวิตามินบี 6 แม้จะมีไม่มากแต่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เพราะจะช่วยป้องกันอาการเหน็บชา เหนื่อยง่าย ทำให้ระบบประสาทและเม็ดเลือดทำงานดีขึ้น ไม่เจ็บป่วยง่าย
รู้หรือไม่? นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ดร.แครอล ควีน นักสังคมศาสตร์และเพศศาสตร์ ผู้ให้ความสนใจกับเรื่องเพศศึกษาด้านบวก กล่าวไว้ว่า เมื่อเรากินอะไรเข้าไปก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยารักษาโรค หรือเครื่องดื่ม สิ่งเหล่านั้นย่อมมีผลกับอสุจิและช่องคลอดด้วย ดังนั้น คำกล่าวที่เคยว่าไว้ว่า กินสับปะรดแล้วอสุจิจะรสหวานนั้นก็มีสิทธิเป็นไปได้เช่นกัน
ควรกินสับปะรดเท่าไหร่ดี?
ปริมาณที่พอดีสำหรับการบริโภคต่อวัน คือ เนื้อสับปะรด 2 ชิ้น ซึ่งจะมีวิตามินซีอยู่ประมาณ 100 มิลลิกรัม ส่วนสับปะรดที่ถูกแปรรูปแล้วอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำสับปะรด ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมักมีสารโบรมีเลนอยู่ประมาณ 500 มิลลิกรัม
ข้อควรระวังในการกินสับปะรด
- โดยทั่วไป การบริโภคสับปะรดจะปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่พอดี หรือไม่เกินกว่าปริมาณที่แนะนำ
- สารโบรมีเลนในสับปะรดมีความเป็นพิษต่ำมาก แต่อย่างไรก็ตาม สารนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ประจำเดือนมามากกว่าปกติ มีผดผื่นคันตามผิวหนัง
- การรับประทานสับปะรดมากจนเกินไปอาจทำให้มีอาการปากบวมหรือแก้มบวม ริมฝีปากหรือมุมปากอักเสบได้
- การรับประทานน้ำสับปะรดที่ยังไม่สุกเต็มที่อาจทำให้อาเจียนอย่างรุนแรงได้