เมื่อวันที่13 มิถุนายน 2566 นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ระหว่าง การไฟฟ้านครหลวง กับ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ณ ห้อง Auditorium ชั้น 6 อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านพลังงานหมุนเวียน โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาแนวทางการพัฒนาออกแบบระบบพลังงานทดแทน และบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองหน่วยงาน การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาระบบพลังงานของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตให้เป็น Green University พัฒนาด้านการศึกษาและศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์พลังงาน วิจัยระบบการจัดการ EV Charging Station ตลอดจนการส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการใช้พลังงานกับบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย
ด้าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงทางวิชาการนี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้รับความร่วมมือในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop on Grid: Smart Government) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐตามมติคณะรัฐมนตรีในการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานราชการภาครัฐลงร้อยละ 20 โดย MEA จะร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในการสำรวจ การออกแบบ การติดตั้ง การบำรุงรักษา จนเสร็จสิ้นโครงการ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีบทบาทในการสนับสนุนเชิงข้อมูลประกอบ เช่น ขนาดพื้นที่ ขนาดและรูปแบบของระบบไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยแต่ละอาคาร รวมถึงการประสานงานภายในและภายนอกองค์กร และร่วมกันออกแบบพัฒนาหลักสูตรด้านพลังงานทดแทน
แนวทางการขับเคลื่อนด้านพลังงานทดแทนของ MEA ปัจจุบัน MEA มีการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่ง MEA มีระบบบริหารจัดการพลังงานที่สามารถบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาพรวมของประเทศสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน