หมอเตือน 14 นามสกุล ไม่อยากขิตในห้องผ่าตัดต้องเฝ้าระวัง อาจมีภาวะ MH ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดมยาสลบแล้วเสี่ยงตาย
จากกรณีข่าวดังคนไข้เสริมจมูกแล้วเสียชีวิตในคลินิกเนื่องจากภาวะ Malignant Hyperthermia ล่าสุด นพ.กิตติธัช สินพิพัฒน์พร หรือ หมอคิม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเสริมความงาม ได้เผยถึงภาวะ MH ผ่านทาง TikTok ว่าโรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยในประเทศไทยมีรายงานว่ามี 14 นามสกุล ที่มีความเสี่ยง ควรเฝ้าระวังหากต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรแจ้งหมอที่ทำการรักษา และวิสัญญีแพทย์หรือหมอดมยา ว่ามียีนตัว Malignant Hyperthermia เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เพราะว่าโรคนี้ต้องใช้ยาแอนตี้โดสชื่อว่า "Dantrolene" ซึ่งในประเทศไทยมียาตัวนี้อยู่น้อยมากๆ และมีเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งบางทีเก็บไว้จนยาหมดอายุยังไม่ได้ใช้ เพราะว่าเหตุนี้เกิดแค่ 1 ในแสนคนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หญิงที่เสริมจมูกแล้วเสียชีวิตที่ตกเป็นข่าว ไม่ได้มีนามสกุลอยู่ใน 14 นามสกุลนี้ ซึ่งหากผลทางการแพทย์ยืนยันว่าเป็นภาวะ Malignant Hyperthermia จริง ต้องมีการบันทึกเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งอาจจะมีอีกหลายตระกูลที่มีความเสี่ยง แต่ไม่เคยตรวจหรือยังไม่มีประวัติที่ถูกบันทึก
@dr.kimtun ใครมีนามสกุลเหล่านี้ ต้องระวัง malignant hyperthermia
♬ original sound - Kittitad Sinpipatporn
ทั้งนี้ ภาวะ Malignant Hyperthermia เป็นภาวะเมตาบอลิซึมสูงที่เกิดในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ยาดมยาสลบหรือยาหย่อนกล้ามเนื้อบางชนิด จะพบได้เฉพาะคนที่มียีนทางพันธุกรรมที่ผิดปกติเท่านั้น เป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งทางวิสัญญีที่พบได้น้อยมาก ประมาณ 1 ใน 200,000 หรือ 0.0005% แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วความรุนแรงอาจถึงชีวิตแบบฉับพลัน
ลักษณะอาการของผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะเกิดขึ้นหลังได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกาย หรือดมยาสลบไปประมาณ 1 ชั่วโมง จะพบว่าจะมีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลายทั่วร่างกายต่อเนื่อง อัตราการเต้นของหัวใจสูง และอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้นสูงมากอย่างรวดเร็ว พบว่าเลือดเป็นกรดและภาวะโพแทสเซียมสูง ส่งผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและเสียชีวิตได้อย่างฉับพลัน
การรักษาภาวะวิกฤตนี้ ได้แก่ การหยุดยาที่เป็นปัจจัยกระตุ้น ให้ยาแดนโทรลีน (dantrolene) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาภาวะนี้โดยเฉพาะ ลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง รักษาเลือดเป็นกรด และให้การรักษาอื่นๆที่ช่วยพยุงสัญญาณชีพให้คงที่
ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสามารถป้องกันได้โดยการวางแผนและเตรียมการล่วงหน้าอย่างละเอียดรอบคอบ และเนื่องจากภาวะ malignant hyperthermia เป็นการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม จึงควรแจ้งให้สมาชิกในครอบครัวให้ทราบถึงการวินิจฉัยนี้ในตระกูล เพื่อเฝ้าระวังการระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวของสมาชิกในครอบครัวในอนาคตด้วย