21 มิถุนายน “วันครีษมายัน 2566” เกิดปรากฏการณ์ กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี กลางคืนสั้นที่สุดของปี รวมเวลาดวงอาทิตย์อยู่บนฟ้า 12 ชม. 56 นาที
วันนี้ (21 มิถุนายน 2566) จะเกิดปรากฏการณ์ วันครีษมายัน 2566 หรือ ปรากฏการณ์กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี
โดย วันครีษมายัน (Summer Solstice) ในปีนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด จึงเป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุด กลางคืนสั้นที่สุดของปี และนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว
คำว่า “Solstice” เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน Stice หมายถึง สถิต หรือ หยุด ดังนั้น Summer Solstice หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุด หรือจุดสุดทางเหนือ แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือน มี.ค. ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อยๆ และหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิ.ย. 66 จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนลงมาทางใต้
ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว
นอกจากนี้ การที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกัน เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว
สำหรับประเทศไทย วันนี้ (21 มิถุนายน 2566) ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 05.51 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าประมาณ 12 ชั่วโมง 56 นาที (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)
ปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ “วันศารทวิษุวัต” (Autumnal Equinox) ในปีนี้ ตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2566 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
ขอบคุณข้อมูลและภาพ : เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ