มารู้จัก “วันไหว้ บะจ่าง” เทศกาลสำคัญของลูกหลานชาวจีน ปีนี้ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2566 เชื่อกันว่าจะทำให้มีความอยู่ดี
วันนี้ 22 มิถุนายน 2566 ตรงกับ เทศกาลไหว้ บะจ่าง หรือ วันไหว้ บะจ่าง หรือที่เรียกว่า เทศกาลตวนอู่เจี๋ย หรือ เทศกาลตวงโหงว เทศกาลที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจีน (จันทรคติ)
ถือเป็น 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญของลูกหลานชาวจีนได้แก่ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลไหว้ บะจ่าง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2566
เป็นวันแห่งการระลึกถึง “ชวีหยวน” กวีผู้รักชาติแห่งรัฐฉู่ ซึ่งเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ จนเป็นที่รักใคร่ของประชาชน แต่ถูกกลั่นแกล้งจนทำให้โดนเนรเทศจากแคว้นฉู่ ก่อนจะโดนศัตรูยกทัพมายึดเมืองได้สำเร็จ ซึ่งท้ายที่สุดเขาทุกข์ใจอย่างมากจนตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย เพื่อช่วยชีวิตเขาชาวบ้านจึงนำเรือออกไปในแม่น้ำและโยนอาหารลงไป เพื่อป้องกันไม่ให้ปลามาแทะร่าง
อย่างไรก็ตามในวันครบรอบวันตายของ “ชวีหยวน” ทุกๆ ปี ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจีน ชาวบ้านจะโยนอาหารเป็นเครื่องเซ่น และทำต่อมาเรื่อยๆ จนพัฒนาการโยนอาหารลงไปในแม่น้ำให้เป็น บะจ่างในที่สุด และตกแต่งเรือให้เป็นรูปมังกร เพื่อป้องกันสัตว์น้ำไม่ให้มากินอีกด้วย ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ฝันเห็น “ชวีหยวน” จนกลายเป็น “ประเพณีไหว้ บะจ่าง และประเพณีการแข่งเรือสืบต่อกันมา”
ทั้งนี้ บะจ่าง ถือเป็นขนมในช่วงหน้าร้อน ที่เชื่อกันว่าจะทำให้มีความอยู่ดี เนื่องจากในช่วงเดือน 5 ของจีน ตรงกับฤดูร้อน การไหว้ด้วยขนม บะจ่าง อาจเหมาะสมที่สุด เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน อาหารมักเก็บได้ไม่นาน แต่ บะจ่างที่ทำจากข้าวเหนียวสามารถเก็บไว้ได้นานมากขึ้น เมื่อไหว้เสร็จคนจีนจะเอาไปชุบน้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายแดง เพื่อนำมารับประทาน จะทำให้เกิดสิ่งมงคลต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เทศกาลไหว้ บะจ่าง นิยมไหว้ในตอนเช้า ด้วย ธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก เพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์ พ่อแม่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในเมืองจีนยังคงความขลังตามประเพณีดั้งเดิมอยู่ โดยเขาจะเอาของไปไหว้ที่ริมแม่น้ำแล้วโยน บะจ่างลงไป แต่ถ้าเป็นการไหว้ในไทย ช่วงเช้าจะไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษตามปกติ แต่เพิ่มเติมบะจ่างเข้ามาด้วย โดยจะใช้ บะจ่างเป็นเลขคู่ เป็นพลังหยิน เพื่อสร้างสมดุลกันกับพลังหยาง ของวันที่ 5 เดือน 5 พร้อมกับ น้ำชา 5 ถ้วย และผลไม้มงคล 5 อย่างตั้งโต๊ะไหว้