สำนักศิลปากรที่ 10 โคราชขุดพบทับหลัง 4 ด้าน ศตวรรษที่ 16-17 อายุ 1,000 ปี เผยคนร้ายแอบขุดกลางปราสาทเอาสมบัติชาติไปขาย วอนเอามาคืนเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา
จากกรณีสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาดำเนินโครงการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทบ้านบุใหญ่ ตำบลสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และได้ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญได้แก่ “ทับหลังลายสิงห์ถือท่อนพวงมาลัย” ในสภาพสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16-17 และขุดพบ “ศิวลึงค์” มีสภาพสมบูรณ์เช่นกัน อายุกว่า 1,000 ปี
นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา และมีตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอสูงเนินเผยว่า ปราสาทบ้านบุใหญ่ตั้งอยู่ที่ หมู่ 7 มีสภาพทั่วไปเป็นเนินเล็กๆ มีก้อนหินทรายพังทลายกระจัดกระจาย ตามบริเวณโดยรอบไม่เหลือรูปทรงของอาคารสถาปัตยกรรม ทางสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมาจะทำการศึกษาโดยนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาสู่แนวทางในการบูรณะปราสาทบ้านบุใหญ่ให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต โดยสภาพก่อนการขุดแต่งเป็นศาสนสถานศาสนาพราหมณ์ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ใช้หินทรายเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ปัจจุบันมีสภาพพังทลาย ปรากฏก้อนหินทรายกระจัดกระจายเต็มพื้นที่จนไม่สามารถระบุหรือสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้
หินทรายที่พบส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาว พบทั้งแบบก้อนเรียบๆ และส่วนที่มีการสลักลวดลายตกแต่ง เช่น ชิ้นส่วนบัวยอดปราสาท ชิ้นส่วนทับหลังเหนือกรอบประตู ชิ้นส่วนกรอบประตู ชิ้นส่วนฐานบัวชิ้น ส่วนกรอบหน้าบัน ชิ้นส่วนนาคประดับมุม และชิ้นส่วนฐานรองประติมากรรมรูปเคารพ พบร่องรอยการเคลื่อนย้ายหินทรายบางส่วนออกจากตำแหน่งเดิมแล้วนำไปก่อเรียงใหม่บริเวณทิศใต้ของโบราณสถาน จากการเปรียบเทียบลวดลายแกะสลักบนบัวยอดปราสาทหน้าบันที่พบเป็นรูปแบบศิลปะเขมรแบบบาปวน-นครวัด ประกอบกับการใช้หินทรายเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
ทั้งนี้ จากการการขุดเพิ่มเติมยังพบชิ้นส่วนหลายชิ้นรวมไปถึงขุดพบ ทับหลังครบทั้ง 4 ด้าน รวมแล้ว 4 ชิ้น แต่มีสภาพที่สมบูรณ์เพียง 1 ชิ้น คือ ทับหลังลายสิงห์ถือท่อนพวงมาลัย อายุกว่า 1,000 ปี ก่อนหน้าที่จะมีการขุดพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีมือดีแอบเข้ามาขุดก่อนเจ้าหน้าที่ ซึ่งพบว่าตรงกลางของปราสาทบ้านบุใหญ่มีร่องรอยขุดลึก มีสมบัติของชาติหายไป ไม่ว่าจะเป็นโบราณวัตถุประเภทโลหะ พระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก พระพุทธรูป จึงฝากคนที่นำไปว่าการกระทำแบบนี้เป็นการขโมยของชาติ อยากให้นำกลับมาคืนเพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ศึกษาข้อมูลต่อกัน ไม่ใช่แสวงหาแต่ผลประโยชน์นำไปขายเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ