ไม่ได้ข้อสรุป โหวตนายกรอบ 2 เสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำได้หรือไม่

18 ก.ค. 66

วิป 3 ฝ่าย ไม่ได้ข้อสรุป โหวตนายกรอบ 2 เสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำได้หรือไม่ รอฟังสมาชิกอภิปรายในที่ ประชุมรัฐสภาเป็นญัตติหรือไม่ 

วันที่ 18 ก.ค. 66 นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติ โหวตนายกรัฐมนตรี รอบสอง วันที่ 19 ก.ค.นี้ว่า 

ได้หารือถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในการเลือกนายกรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) จะเริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. เพื่อให้กระบวนการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยเร็ว เพราะประเทศชาติรอนายกฯคนใหม่ แก้ไขปัญหาต่างๆ ในบ้านเมือง 

นาย วันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายได้หารือ เรื่องกระบวนการว่า จะเป็นญัตติของการประชุมรัฐสภาในข้อที่ 41 หรือไม่ โดยข้อบังคับดังกล่าว กำหนดว่าญัตติที่ตกไปแล้วไม่สามารถนำมาเสนอใหม่ได้ ภายในสมัยประชุมเดียวกัน ยกเว้นสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ประธานรัฐสภาสามารถนำกลับมาพิจารณาใหม่ได้ 

แต่ก็มีอีกความเห็นหนึ่งมองว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติทั่วไป เพราะข้อบังคับของการเลือกนายกรัฐมนตรีแยกออกมาในหมวด 9 ตั้งแต่มาตรา 136 ถึง มาตรา 139 ก็ไม่ได้มีบังคับไว้ อีกครั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าไม่ให้เสนอชื่อซ้ำ จึงไม่ควรใช้บังคับข้อที่ 41 เพราะไม่ใช่ญัตติทั่วไป แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ต้องฟังเสียงสมาชิกรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ก่อน อย่างไรก็ตามผู้ที่เข้าร่วมการประชุมวิป 3 ฝ่ายวันนี้ (18 ก.ค.) จะต้องไปทำความเข้าใจ กับสมาชิกพรรคของตนเอง เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการประชุม 

เมื่อถามว่า วันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) จะต้องลงมติเรื่อง กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี รอบ 2 จะสามารถเสนอรายชื่อนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าเป็นญัตติหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประธานฯจะชี้ขาดได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะวินิจฉัย หรือจะให้สมาชิกลงมติก็ต้องดูสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ว่าจะใช้ข้อบังคับข้อที่ 41หรือไม่ หรือจะใช้ ข้อบังคับหมวด 9 ดังนั้นก็คงต้องฟังการอภิปรายก่อน และเข้าใจว่า คงไม่ใช้เวลายืดเยื้อในการอภิปราย ซึ่งวางกรอบเวลาเอาไว้คร่าวๆ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง 

เมื่อถามว่าถึงการงดเว้นข้อบังคับ จะเป็นหนึ่งในแนวทาง สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรี วันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะงดเว้นข้อบังคับได้ก็ต้องมีการเสนอเข้ามาในที่ประชุมก่อน และที่ประชุมต้องมีมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง จึงจะงดเว้นได้ แต่ในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายวันนี้ (18 ก.ค.) ไม่มีใครพูดถึง เรื่องนี้ เพราะถ้ามีการยกเว้นข้อบังคับก็ไม่รู้จะไปใช้ข้อบังคับตรงไหน เพราะการเดินหน้าเลือกนายกรัฐมนตรีมีไม่กี่ประเด็นเท่านั้น และประเด็นสำคัญ คือต้องมีการเลือกนายกให้ได้ จึงคิดว่าคงไม่มีใครเสนอให้ยกเว้นข้อบังคับ 

เมื่อถามว่า หากสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นญัตติ จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯคนอื่นต่อได้เลยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ข้อบังคับไม่ได้ห้ามเอาไว้ 

ส่วนการบรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 จะดำเนินการหลังเลือกนายกรัฐมนตรีเลยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบความถูกต้องของเจ้าหน้าที่สภา ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระ คงต้องรอให้วาระการเลือกนายกฯเสร็จสิ้นก่อน

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม