รู้จัก “กบ” สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ให้มากขึ้น
“กบ” เป็นสัตว์ที่ผูกพันกับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ทั้งเป็นอาหารและเกี่ยวกับความเชื่อ โดยหลายพื้นที่มีความเชื่อเสียงร้องของกบสามารถเรียกฝนให้ตกลงมาได้ บางพื้นที่เชื่อว่ากบจะนำโชคมาให้หรือคุ้มครองการเดินทางให้ปลอดภัย
ชนชาติไท มีความเชื่อแต่โบราณเกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคา โดยเชื่อว่าเกิดจากกบอมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เรียกว่า "กบกินเดือน" หรือ "กบกินตะวัน" ต้องใช้การตีเกราะเคาะไม้ เพื่อให้กบคายคืนดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
นอกจากนี้ ชาวจีน ชาวญี่ปุ่น และอีกหลากหลายประเทศ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับกบในทางที่ดี มีการผลอตเครื่องรางเรียกโชคเรียกทรัพย์มากมาย อาทิ กบหยก กระเป๋าเงินกบ กบทองคำ
กบ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นสัตว์ไม่มีหาง ผิวหนังของกบจะขรุขระ อาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งน้ำตื้น มีขาหลังยาวจากการยืดของกระดูก เต็มไปด้วยมัดกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เพื่อใช้ในการกระโดด กบในระยะวัยอ่อน จะมีลักษณะคล้ายปลาหัวโต มีหาง เรียกว่า "ลูกอ๊อด"
การสืบพันธุ์ของกบนั้นมีหลากหลายมาก ส่วนการปฏิสนธิจะเกิดขึ้นภายนอกตัวกบ กบแต่ชนิดการวางไข่แตกต่างกัน บางชนิดจะเก็บไข่ไว้บนหลัง ขา ถุงบนหลัง หรือในช่องท้อง บางชนิดจะวางไข่ติดไว้กับพืชน้ำหรือกิ่งไม้
วัฏจักรชีวิตของกบมี 4 ระยะ ได้แก่ ไข่ ลูกอ๊อด ลูกกบ และตัวเต็มวัย
- ระยะที่ 1: ไข่ (1-3 สัปดาห์) กบจะวางไข่เป็นกลุ่มจำนวนมากในน้ำตื้น หรือบริเวณติดกับพืชน้ำ โดยกบตัวเมียสามารถวางไข่ได้หลายร้อยหรือหลายพันฟองในคราวเดียว ไข่กบมีลักษณะเป็นวงกลม ด้านในมีจุดสีดำขนาดเล็ก ล้อมรอบด้วยของเหลวใส เพื่อช่วยป้องกันภัยและรักษาความร้อนในการฟักตัว
- ระยะที่ 2: ลูกอ๊อด (7-10 สัปดาห์) ไข่กบจะฟักออกมาเป็นลูกอ๊อด ซึ่งมีรูปร่างโดยทั่วไปคล้ายปลา ไม่มีขา มีหาง มีปาก หายใจด้วยเหงือก กินอาหาร เช่น เศษพืชที่ลอยอยู่ในน้ำ
- ระยะที่ 3: ลูกกบหรือลูกอ๊อดวัยแก่ (10-12 สัปดาห์) ลูกอ๊อดจะเริ่มเปลี่ยนรูปร่าง มีขางอกออกมา โดยเริ่มจากขาหลัง พร้อมกับพัฒนาปอดและแก้วหูอีก ก่อนจะกลายเป็นกบตัวเต็มวัยขนาดเล็ก
- ระยะที่ 4: ตัวเต็มวัย กบตัวเต็มวัยจะหายใจทางปอดและผิวหนัง ไม่มีหาง ใช้ชีวิตได้ทั้งบนบกและในน้ำ และกินแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร กบตัวเต็มวัยขนาดเล็กอาจใช้เวลาสูงถึง 4 ปีกว่าจะโตเต็มวัยโดยสมบูรณ์
กบ เป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดมาแล้วกว่า 200 ล้านปี และเป็นสัตว์ที่อยู่รอดพ้นมาได้จากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เมื่อ 65 ล้านปีก่อน ในยุคของไดโนเสาร์ จากการศึกษาพบว่า กบในยุคปัจจุบันราว 88 % เป็นกบที่มีวิวัฒนาการมาจากอดีต ซึ่งสามารถย้อนไปไกลได้ถึง 66–150 ล้านปีก่อน และก็ยังคงมีการค้นพบกบชนิดใหม่อยู่เรื่อย ๆ ทุกปี
ประเทศไทย กบหลายชนิดได้ถูกเลี้ยงเพาะเลี่ยงขยายพันธุ์ เพื่อการบริโภค เพื่อขายเป็นอาหารคนและอาหารปลา เช่น กบนา กบทูด อึ่งปากขวด ทำให้กบกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมเลี้ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากต้นทุนน้อย ดูแลไม่ยุ่งยาก เพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ให้กับเกษตรกร ขณะที่กบหลายชนิด คนก็นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง