วันที่ 17 ต.ค.62 ภายในบริเวณเขาถ้ำแรด หมู่ 1 บ้านในเขา ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายอภิรัฐ เจ๊ะเหล่า นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักงานศิลปากรที่ 11 สงขลา พร้อมเจ้าที่รวม 4 คน นางสาวมณฑา ทองขาว นายก อบต.ปากแจ่ม นายบัณฑิต สงเพชร กำนันตำบลปากแจ่ม นายสมคิด นาเลื่อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านในเขา พร้อมชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คน เดินทางเข้าสำรวจ กระดูกมนุษย์ที่ชาวบ้านพบในถ้ำ ที่คาดว่าจะเป็นกระดูกมนุษย์ที่มีอายุหลายพันปี พร้อมทั้งยังพบเครื่องปั้นดินเผาเป็นหม้อและขวานหินขัดอีกด้วย
โดยที่บริเวณที่พบกระดูก หม้อ และขวานหินขัด อยู่ภายในชะง่อนเพิงผามีลักษณะเป็นวงรี สูงจากพื้นถ้ำประมาณ 6 เมตร บริเวณปากถ้ำกว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 2 เมตร ภายในเป็นโพรงกว้างลึกประมาณ 4 เมตร ภายในเป็นถ้ำเล็กๆไม่สามารถยืนได้ ภายในพบกระดูกมนุษย์กระจัดกระจาย ใกล้ๆมีเครื่องปั้นหม้อโบราณ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอยู่ในยุคหินใหม่ มีอายุประมาณ 3,000-4,000 ปี
นายเจริญ เอียดสี อายุ 60 ปี ชาวบ้านที่พบกระดูกคนแรก บอกว่า วันที่ 14 ต.ค. ได้เดินทางยังเขาถ้ำแรด เพื่อตกแต่งเป็นสถานที่ทำบุญ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านใช้พื้นที่ดังกล่าวมาก่อนแล้ว และตรงจุดที่พบกระดูกนั้นได้นำต้นว่านหางช้างขึ้นไปปลูกตรงบริเวณชะง้อนเพิงผา ปรากฎว่าภายในมีโพรงถ้ำ ใช้ไฟส่องจึงเห็นกระดูก และหม้อดิน และแจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้าน ยอมรับว่ารู้สึกตื่นเต้นมาก
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านในเขา บอกว่า หมู่บ้านในเขา ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด กรมป่าไม้อนุมัติให้เป็นป่าชุมชน โดยชุมชนได้มีการจัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกรียติฯดูแลศึกษาเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กว่า 372 ไร่ โดยที่ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกป่าชุมชนอยากได้ที่พักผ่อนหย่อนใจ จึงมีการจัดทำโครงการคืนธรรมชาติให้ผืนป่า ด้วยการนำต้นไม้มาปลูกเพิ่มเติม กระทั่งล่าสุดชาวบ้านบังเอิญมาพบโครงกระดูก จึงประสานไปยังสำนักงานศิลปากรที่ 11 สงขลา เข้าสำรวจ ตรวจสอบพบว่าภายในถ้ำมีโครงกระดูก หม้อ ขวาน และก้อนหินคล้ายลูกปัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ศิลปากรได้เก็บและนำไปศึกษาต่อไป จากนี้ศึกษาว่าโครงกระดูกที่พบอยู่ในสมัยไหนย้อนหลังไปกี่พันปี ในส่วนของพื้นที่มีการจัดเวรยามเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปทำลาย เพื่อประกาศเป็นแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุต่อไป ภูเขาถ้ำแรดเป็นพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม ทำให้มีนายทุนพยายามจะยื่นขอสัมปทานระเบิดหิน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากพื้นที่เป็นป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่
ด้านนักโบราณคดีชำนาญการ สำนักงานศิลปากร ที่ 11 สงขลา บอกว่า จากการตรวจสอบมั่นใจว่าเป็นกระดูกของมนุษย์ เจอทั้งกระดูกนิ้ว ท่อนแขน ท่อนขา ซึ่งยังค่อนข้างสมบูรณ์ การที่พบกระดูกในถ้ำขนาดเล็กสันนิษฐานได้ว่า เป็นถ้ำที่ใช้ในจัดทำพิธีกรรมฝังศพ ไม่ใช่ถ้ำที่มีไว้อยู่อาศัยซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่านี้ ทั้งหม้อและขวานหินขัดเป็นสิ่งที่อุทิศให้กับผู้ตาย ลักษณะกระดูกที่พบมีขนาดใหญ่น่าจะเป็นกระดูกของผู้ชาย สภาพยังไม่ถูกรบกวนมาก่อน ลักษณะกระดูกที่พบไม่ได้มีการวางยาวทั้งพวง สันนิษฐานว่าเป็นการฝังศพในสมัยโบราณโดยการฝังด้านล่างก่อน เมื่อเน่าเปื่อยแล้วค่อยนำกระดูกมาเก็บไว้ถ้ำ ซึ่งอายุจากการดูจากขวานหินขัดและเศษวัสดุดินเผา เชื่อว่าเป็นยุคสมัยหินใหม่ อายุ 3-4 พันปีจากนี้จะนำตัวอย่างกระดูกกับเศษเครื่องปั้นดินเผา และขวานหินขัดไปวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อวางแผนกับชุมชนให้มีการอนุรักษ์พื้นที่นี่ต่อไปอย่างไร