“เศรษฐา-สุทิน” เชิญ “ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่” กินข้าวเที่ยงแบบส่วนตัว เพื่อแนะนำตัว-กระชับสัมพันธ์ พร้อมแจงเหตุผลเลือก “รมว.กลาโหม”
มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เชิญว่าที่ ผบ.เหล่าทัพคนใหม่ อาทิ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทสส. ในฐานะว่าที่ ผบ.ทสส. พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. ในฐานะว่าที่ ผบ.ทบ. พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) ในฐานะว่าที่ ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.พันธ์ภักดิ์ พัฒนกุล ผู้ช่วย ผบ.ทอ.ในฐานะว่าที่ ผบ.ทอ.มาร่วมรับประทานอาหารกลางวันในวันนี้ เพื่อแนะนำตัวและทำความรู้จัก กระชับความสัมพันธ์ นอกจากนี้ คาดว่า นายกฯ จะชี้แจงเหตุผลที่เลือก นายสุทิน มาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ขณะเดียวกันตามรายงานการนัดหารือจะเน้นการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะกับทางกองทัพบกให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือการขับเคลื่อนงานของรัฐบาล และกองทัพ โดยเฉพาะสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง ก่อนนำมาบรรจุไว้ในนโยบาย ร่วมกับนโยบายของ 11 พรรคการเมือง และตามหมุดหมายรัฐบาลจะแถลงนโยบายในวันที่ 11 กันยายนนี้
สำหรับสถานที่นัดทานอาหาร คือโรงแรมแห่งหนึ่งใน กทม. และไม่ได้มีการแจ้งต่อสื่อมวลชน เนื่องจาก นายกฯอยากจะทานข้าวกับว่าที่ ผบ.เหล่าทัพ เป็นการส่วนตัว และพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ไม่อยากให้เอิกเกริก ไม่อยากให้มีสื่อมวลชนมาทำข่าว
อย่างไรก็ตาม นายสุทิน ยังเตรียมที่จะเข้าพบนักวิชาการด้านความมั่นคง อาทิ ศาสตราจารย์สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยก่อนหน้านี้ได้หารือกับนายไพศาล พืชมงคล ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ส่วนตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม ซึ่งตามรายงานมีชื่อของ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ด้วย
มีรายงานข่าวด้วยว่าก่อนหน้านี้ได้เคยมีการพูดคุยกันในเรื่องการทำงานระหว่างรัฐบาลและกองทัพมาบ้าง โดยนายเศรษฐามีนโยบาย พร้อมจะทำงานกับกองทัพในฐานะรัฐบาลพลเรือน ที่พร้อมรับฟังคำแนะนำต่างๆ
อีกทั้งในเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุน จะไม่ตัดงบประมาณดังกล่าว หากมีความจำเป็น เพราะเข้าใจดีว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะปกป้องประเทศ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนต่างๆที่จำเป็นต้องมีทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน
และหากมีการเจรจาในเรื่องนี้จะขอให้ทางกองทัพนำเสนอยุทโธปกรณ์ภายในประเทศไทยที่มีเพื่อแลกเปลี่ยนหรือไปจำหน่ายกับประเทศนั้นๆ ในลักษณะการแลกเปลี่ยน หรือ บราเธอร์ (barter) ระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้สินค้าที่เรามีอยู่สามารถมีช่องทางเพิ่มในทางการตลาดกับต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง.