“ทักษิณ” ยังอ่อนเพลีย ขออภัยโทษครั้งที่ 2 คาดครอบครัวดำเนินการ

4 ก.ย. 66

'ทนายวิญญัติ' เผย 'ทักษิณ' ยังอ่อนเพลีย ยอมรับศึกษากฎกระทรวงราชทัณฑ์ ประเด็นการพักโทษ พร้อมใช้สิทธิ์ แย้มหากเข้าเกณฑ์คุมประพฤติ ประสงค์ไม่ติดกำไล EM ส่วน 'การขออภัยโทษครั้งที่สอง' คาด ครอบครัวดำเนินการ เล็งวาระโอกาสสำคัญ ชี้ เป็นสิทธิผู้ต้องขัง ราชทัณฑ์ต้องพิจารณา

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความประจำตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า สำหรับการเดินทางเข้าเยี่ยมในวันนี้ของสมาชิกครอบครัวนายทักษิณ ตนยังไม่ได้รับรายงานว่าท่านใดจะเดินทางมา แต่ในช่วงบ่ายวันนี้ตนจะเข้าไปพบนายทักษิณ เพื่อพูดคุยเรื่องคดีความคงค้างและเรื่องอื่น ๆ ส่วนการเยี่ยมผ่านรูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของญาติท่านอื่น ๆ ตนยังไม่ได้รับแจ้งเช่นกัน อีกทั้งตลอดการเข้าพบพูดคุยกับนายทักษิณ ท่านยังคงมีอาการอ่อนเพลียบ้าง แต่ยังพูดคุยตอบโต้ได้ ไม่ถึงขนาดมีอาการเหนื่อยหอบ ส่วนเรื่องอาการของโรคหัวใจหรือโรคอื่น ๆ รวมถึงการรักษาพยาบาล ยังคงอยู่ในการประเมินวินิจฉัยของทีมแพทย์ รพ.ตำรวจ และทางเรือนจำฯวันต่อวัน ณ เวลานี้จึงยังไม่มีแนวโน้มว่าอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณทุเลาดีขึ้นหรืออย่างไร ถึงจะได้รับการพิจารณาจากแพทย์เพื่อส่งกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตนไม่สามารถยืนยันในส่วนนี้ได้

เมื่อถามถึงเรื่องความเป็นไปได้ของนายทักษิณ กรณีอาจได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังสูงวัย และมีอาการเจ็บป่วยนั้น ทนายวิญญัติ ระบุว่า ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีความคิดเห็นหลากหลายของบุคคลในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดถึงประเด็นนี้ แต่อย่างไรทางกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ก็จะต้องมีการพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 หรือ กฎกระทรวงของราชทัณฑ์หรือไม่ และถึงจะเข้าเกณฑ์ก็ต้องดูอีกว่ามีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้ผิดหรือขัดต่อระเบียบที่มีการกำหนดไว้ ดังนั้น ทุกอย่างเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องขัง หากทางราชทัณฑ์พิจารณาจากหลักเกณฑ์แล้วเห็นว่านายทักษิณ เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ก็จะมีการแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องขังรับทราบ ส่วนการจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนายทักษิณเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดในเรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติใด ๆ เป็นเพียงการคาดการณ์และความคิดเห็นของคนในสังคมเท่านั้น อีกทั้งทางเรือนจำฯ ก็ยังไม่ได้มีการแจ้งเรื่องการพักการลงโทษมายังตนหรือคุณทักษิณ แต่เราทราบว่ามีเกณฑ์นี้อยู่ ท้ายสุดเรื่องนี้ก็เป็นอำนาจของทางกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมที่จะดำเนินการ


ทนายวิญญัติ ระบุอีกว่า ยอมรับว่ากรณีของนายทักษิณมีหลายช่องทางที่เป็นไปได้ ทั้งเรื่องอาจเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ หรือเรื่องคุมประพฤติ (การติดกำไล EM) แต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใดก็ขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์ที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ เพราะหน่วยงานก็ดำเนินไปตามระเบียบกฎหมายกำหนดไว้ แต่เราในฐานะทนายความก็ต้องไปศึกษาทั้งหมด ทั้งกฎระเบียบเก่า กฎกระทรวงที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม หรือกฎกระทรวงเดิม นอกจากนี้ ในเรื่องการติดหรือไม่ติดกำไล EM มันมีโอกาสได้ทั้งหมด เนื่องจากจะมีหลักเกณฑ์ รวมถึงข้อยกเว้นอยู่ อยู่ที่ว่าจะเข้าหลักเกณฑ์หรือข้อยกเว้นหรือไม่ หากมีข้อยกเว้นให้สามารถดำเนินการได้ ตนในฐานะทนายความก็ต้องดำเนินการเพื่อลูกความ ถือเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง

 

เมื่อถามว่าในส่วนของบ้านพักผู้มีอุปการะคุณ หากนายทักษิณเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ จะเป็นสถานที่ใด สามารถเป็นบ้านพัก (ที่อยู่ปัจจุบัน) หรือไม่ ทนายวิญญัติ ระบุว่า หากนายทักษิณได้รับการพักการลงโทษจริง ตนไม่สามารถให้ข้อมูลในส่วนนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่นายทักษิณจะต้องมีการพูดคุยกับทางครอบครัว และร่วมกันพิจารณาตัดสินใจถึงความเหมาะสม แต่อยากให้รออีกสักระยะหนึ่งคงจะได้ทราบความชัดเจนกัน

 

ส่วนนายทักษิณหรือครอบครัวจะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษสำหรับวาระโอกาสสำคัญหลังจากนี้หรือไม่ เช่น วันที่ 13 ต.ค. หรือ 5 ธ.ค. หรือว่าการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลครั้งที่ผ่านมา และมีการอภัยลดโทษ ถือเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดแล้ว ทนายวิญญัติ กล่าวว่า ต้องเรียนว่าการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษที่ผ่านมาและนายทักษิณได้รับการอภัยลดโทษ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้วในครั้งนั้น ซึ่งตนมองว่าเป็นรายครั้งมากกว่า ส่วนในครั้งถัดไป หากมีวาระโอกาสสำคัญหรือวันสำคัญ คุณทักษิณก็มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์หรือมีผลเป็นคุณต่อตัวเองได้ในฐานะที่เป็นผู้ต้องขังทั่วไป แต่ก็ต้องดูว่าขณะนี้คุณทักษิณจัดว่าเป็นผู้ต้องขังชั้นใดหรืออยู่ในหลักเกณฑ์ใด อีกทั้งยังต้องไปดูในส่วนของพระราชกฤษฎีกา ที่ถ้าหากมีการประกาศออกมานั้น จะมีการระบุหมายเหตุ ข้อยกเว้นหรือสาระเนื้อหาแนบท้ายส่วนได้หรือไม่

 

“การพระราชทานอภัยโทษในครั้งถัดไปนั้น ต้องมองว่าเป็นการไม่เลือกปฏิบัติของทางราชทัณฑ์ หากผู้ต้องขังรายใดที่เข้าเกณฑ์ ทางราชทัณฑ์ก็จะมีการแจ้งหรือดำเนินการไว้อยู่แล้ว เพราะว่าทางเรือนจำ/ทัณฑสถาน จะต้องมีการสำรวจจำนวนผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์หรือว่ามีผู้ต้องขังรายใดเหลือวันต้องโทษจำคุกกี่วัน เพื่อดูว่าใครจะได้รับประโยชน์ตรงนี้บ้าง ไม่ใช่แค่ในกรณีของนายทักษิณอย่างเดียว ทั้งนี้ ณ เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องใดๆ ทุกอย่างเป็นไปตามวาระการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น” ทนายวิญญัติ ขยายความ

 

นอกจากนี้ ทนายวิญญัติ ระบุด้วยว่า สำหรับการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษครั้งถัดไป คาดว่าจะมีการพูดคุยกันภายในครอบครัวของนายทักษิณเอง ซึ่งตนจะไม่ได้รับทราบข้อมูลในส่วนนี้ หรือทางครอบครัวอาจจะเป็นผู้ดำเนินการประสานกับทางเรือนจำ/ทัณฑสถานได้เลย เพราะว่าหน้าที่หลักของตนคือการรับผิดชอบในส่วนของคดีความที่เหลือตามที่ได้รับมอบหมาย จึงไม่สามารถยืนยันข้อมูลได้ ส่วนเรื่อง 10 รายชื่อใหม่ที่นายทักษิณจะต้องมีการระบุว่าอนุญาตให้ใครเข้าเยี่ยมบ้างนั้น ขณะนี้ยังไม่ครบกรอบกำหนดเวลา 30 วัน เพราะใกล้ ๆ วัน ทางเรือนจำฯจะมีการสำรวจแจ้งมา คาดว่าจะมีการดำเนินการเรื่อง 10 รายชื่อชุดใหม่ประมาณวันที่ 29 กันยายนนี้ ส่วนถ้านายทักษิณจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขรายชื่อทั้งหมด หรือปรับเปลี่ยนรายชื่อเพียงบางส่วนนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายทักษิณเอง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม