อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย ผู้ก่อเหตุ ไม่มีประวัติรักษาใน กรมสุขภาพจิต รุกประสาน พารากอน ตั้งหน่วยเยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ
วันที่ 4 ต.ค. 66 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ตนอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อมาเยี่ยมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.66)
เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดจะได้รับการดูแล ทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย และได้แจ้งกับทาง รพ. ว่าหากมีอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือจาก กรมสุขภาพจิต เราก็พร้อมให้การดูแลอย่างเต็มที่ เพราะเรามีทีม MCATT ที่คอยดูแลเรื่องสุขภาพจิต หลังเกิดความรุนแรงต่างๆ
ซึ่งจะมีการรวบรวมตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ เพื่อการดูแลต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ตนก็จะเดินทางไปที่ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน เพื่อเปิดพื้นที่ดูแล เรื่องจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง พนักงานห้างร้าน คนทำงานในห้าง
เมื่อถามถึง ที่มีการระบุว่า ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ป่วยจิตเวช ที่ขาดยา ทำให้เกิดภาวะหลอนแล้วไปก่อความรุนแรง พญ.อัมพร กล่าวว่า ตนได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาให้ข้อมูลนี้ทางสื่อ ซึ่งเด็กอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทีมจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทาง กรมสุขภาพจิต จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า หากมีประเด็นทางจิตเวชที่ต้องมีการประเมิน เพื่อช่วยเหลือและรักษา ทาง กรมสุขภาพจิต ได้เตรียมหน่วยงานรองรับไว้แล้ว และพร้อมร่วมมือกับตำรวจในการให้ข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บป่วย หรือเหตุเกี่ยวข้องใดๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีและการดูแล
เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ติดต่อมาขอข้อมูลผู้ป่วยจาก กรมสุขภาพจิต หรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อมา เนื่องจากผู้ก่อเหตุรายนี้ไม่มีประวัติได้รับการดูแลจากทาง กรมสุขภาพจิต อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สังคมจะได้ประโยชน์มากกว่า อาจจะไม่ใช่การสรุปว่าเด็กเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เป็นการวิเคราะห์เหตุการณ์ว่า ไม่ว่าเด็กจะเป็นอะไรก็ตาม แต่สังคมต้องตื่นตัวกับการป้องกันความรุนแรง ไม่ว่ารายนี้จะเจ็บป่วยหรือไม่ แต่เด็กทุกคนที่เจ็บป่วยทางจิตต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ไม่ว่ารายนี้จะขาดยาหรือไม่แต่ผู้ป่วยทุกคนต้องไม่ขาดยา และต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากแพทย์ พร้อมกับได้รับความร่วมมือจากครอบครัว
“อาจจะไม่มีประโยชน์สำหรับประชาชนที่จะไปเจาะว่าเด็กรายนี้เป็นอย่างไร เพราะเป็นบทบาทของการดำเนินคดี หรือนักวิชาที่จะเรียนรู้ เพื่อนำมาป้องกันความรุนแรงทางสังคมต่อไป ส่วนสังคมก็ไม่ต้องสร้างสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เด็กชาชินกับความรุนแรง เหล่านี้ สังคมต้องทบทวนเพื่อให้เกิดการตระหนักมากขึ้นอีกครั้ง” พญ.อัมพร กล่าว