แม่แรงงานไทย โอดรอเก้อเป็นเดือน ลูกดับในอิสราเอลไร้วี่แววเงินเยียวยากระทรวงแรงงาน แล้วจะเอาอะไรเป็นแรงจูงใจให้คนอื่นอยากกลับบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีนายพงษธร ขุนศรี อายุ 25 ปี ชาว อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไปเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 ก่อนที่คืนวันที่ 11 ต.ค. 66 ทางสถานทูตไทยจะยืนยันว่านายพงษธรถูกกลุ่มฮามาสฆ่าเสียชีวิตแล้ว และได้นำร่างกลับมาที่บ้านเกิด ให้ญาติประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพ และฌาปนกิจศพไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุดวันที่ 3 พ.ย. 66 นางสุรางคณา ขุนศรี ซึ่งเป็นแม่ของนายพงษธร ยังอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ ในการจากไปของลูกชายอย่างกะทันหัน แม้ว่าเรื่องราวจะผ่านมาเกือบ 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ลูกชายถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป แต่ก็กลายเป็นบาดแผลในใจที่ผู้เป็นแม่ยังไม่อาจลืมไปได้ สิ่งที่หวังได้ตอนนี้ก็เพียงได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐที่รับปากไว้เท่านั้น แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาแต่อย่างใด
นางสุรางคณา กล่าวว่า ตั้งแต่มีข่าวว่าลูกชายถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ก็มีเพื่อนบ้านมาคอยให้กำลังใจตลอด รวมทั้งมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน ผลัดเปลี่ยนกันแวะเวียนมาหาทุกวัน จนกระทั่งทราบว่าลูกชายเสียชีวิต และนำศพกลับมาบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด ช่วงนั้นก็มีค่าใช้จ่ายในการรับรองแขก ทั้งค่าอาหารการกิน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าการจัดงานศพ รวมค่าใช้จ่ายตลอด 16 วัน เป็นเงินกว่า 1 แสนบาท โดยตนเองได้นำเงินที่เขามาช่วยงานศพจ่ายไปทั้งหมด ตอนนี้ได้แต่เพียงเงินช่วยเหลือจากกรณีทหารผ่านศึกและเงินประกันสังคม รวมประมาณ 20,000 บาทเท่านั้น
แต่เงินเยียวยาที่ทางกระทรวงแรงงานรับปากว่าจะให้ จำนวน 80,000 บาท ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้เลย เพราะทางเจ้าหน้าที่เพิ่งจะมาขอเอกสารเพิ่มเติมไปอีกเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมานี่เอง ถ้าตนไม่ได้เงินจากคนที่มาช่วยงาน คงจะเป็นหนี้จำนวนมากแน่ ตนก็ไม่ได้อยากเรียกร้องอะไรมาก เพียงแต่ว่ากรณีของลูกชายที่เสียชีวิต ถือว่าเป็นเคสแรกที่ทางรัฐบาลแจ้งจะให้ความช่วยเหลือ เพราะทุกหน่วยงานก็ลงพื้นที่มาหาตนเองตั้งแต่วันแรกแล้ว แต่จนถึงขณะนี้เวลาผ่านมาเกือบ 1 เดือนแล้ว ก็ยังไร้วี่แววว่าจะได้เงินช่วยเหลือเยียวยาตามที่ได้แจ้งไว้เลย
“มีข่าวอีกว่ารัฐบาลพยายามจะเสนอเงินให้แรงงานที่กลับมา คนละ 50,000 บาท พร้อมสิทธิ์ให้กู้เงิน 150,000 บาทดอกเบี้ยต่ำ เคสของลูกชายตนเองยังไม่ได้เงินเลย แล้วจะเอาอะไรมาสร้างความมั่นใจให้กับคนที่เขายังไม่ได้กลับว่าจะได้เงินตามที่รัฐบาลอ้าง เพราะทุกคนก็มีภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะภาระหนี้สินที่ไปกู้ยืมมา ซึ่งดอกเบี้ยก็ยังคงเดินหน้าต่อเรื่อยๆ ไม่หยุด ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลอยากจะทำให้เกิดแรงจูงใจให้แรงงานที่ยังไม่กลับ อยากกลับมา ก็ต้องนำเงินมาวางไว้เลย เมื่อกลับมาปุ๊บ ก็ได้รับปั๊บเลย อย่างนี้จึงจะทำให้คนอยากจะกลับมา แต่ถ้าทุกคนต้องมารอเงินเยียวยาที่ไม่รู้ว่าจะได้รับเมื่อใด ใครเขาจะอยากกลับมา” นางสุรางคณา กล่าว