รู้จัก โรคเบาหวาน และอาการ เบาหวานขึ้นตา ภาวะแทรกซ้อน สาเหตุสำคัญทำ "ตาบอด" เผย จุดต่าง อาการโรค VS อาการสายตาสั้น สายตายาว
เบาหวานขึ้นตา ภาวะแทรกซ้อนพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน สาเหตุสำคัญที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นและถือเป็นภัยเงียบอันน่ากลัว เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานส่วนมากในระยะเริ่มต้นจะไม่มีความผิดปกติของการมองเห็น ซึ่งสามารถเกิดได้ถึง 90% หลังเป็นเบาหวานนาน 15 ปี
นายแพทย์ศิริพงศ์ สินประจักษ์ผล จักษุแพทย์ ศูนย์จักษุโรงพยาบาลระรามเก้า อธิบายว่า
โรคเบาหวาน คืออะไร
“โรคเบาหวาน เกิดภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงผิดปกติ ส่งผลทำให้หลอดเลือดเล็ก ๆ ทั่วร่างกายเหล่านี้มีปัญหา ซึ่งหลอดเลือดเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วร่างกายเรา ทำหน้าที่ขนส่งเซลล์เม็ดเลือด สารอาหาร และออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อของร่างกายโดยเฉพาะที่ตาของเรา เป็นตำแหน่งที่มีหลอดเลือดเล็กๆ อยู่เยอะ
เพราะฉะนั้นหากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมา ก็จะเกิดภาวะการขาดเลือดของเนื้อเยื่อที่จอประสาทตา ทำให้เกิดการมีเลือดออกผิดปกติ มีจอประสาทตาบวม และหากอาการรุนแรงมาก สามารถส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานตาบอดได้
ดังนั้น ภาวะเบาหวานขึ้นตาจึงต้องเน้นในกลุ่มคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานก่อน โดยเริ่มต้นผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการ แต่หากภาวะนี้เกิดขึ้นซักระยะหนึ่ง ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการตามัว การมองเห็นเริ่มผิดปกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากจุดรับภาพบวม จากการที่มีเส้นเลือดผิดปกติจากเบาหวานขึ้นตา หรือบางรายอาจจะมีการมองเห็นที่มัวหลงเฉียบพลันได้ หากเกิดมีการแตกของเส้นเลือดแล้วเกิดมีเลือดออกในลูกตา ในรายที่มีอาการรุนแรงหากปล่อยจนกระทั่งเป็นมากๆ แล้วเกิดเป็นพังผืดดึงให้เกิดภาวะจอประสาทตาลอกอาจจะเกิดการสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้”
อาการตาพร่ามัวหรือการมองเห็นผิดปกติที่เกิดจากภาวะเบาหวานขึ้นตา จะต่างจากอาการสายตาสั้นหรือสายตายาวโดยทั่วไป อย่างไร
1. มองภาพตรงกลางไม่ค่อยชัดเกิดจากจอประสาทตาบวม คือจากที่ผู้ป่วยเคยมองเห็นรายละเอียดตรงกลางได้อย่างชัดเจน จะเริ่มเกิดความพร่ามัว บางรายอาจจะเห็นเป็นเงาบางตรงกลาง หรือเห็นภาพลักษณะบิดเบี้ยวไป
2. มองเห็นเป็นเงาดำมาบังตาเกิดจากเส้นเลือดแตก มีเลือดออกในลูกตามาบดบังการมองเห็น ผู้ป่วยอาจเห็นเป็นเงาดำมาบังตาซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณเลือดที่ออก บางครั้งอาจเห็นเป็นเส้นลอยไปมา
3. จอดำมืด เกิดจากกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดออกในปริมาณมากและเลือดแตกเข้ามาในน้ำวุ้นตาของผู้ป่วย จนทำให้การมองเห็นเป็นภาพที่มืดไป
ปัจจุบันโรงพยาบาลพระรามเก้า พร้อมด้วยเครื่องมือตรวจวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา ด้วยมาตรฐานระดับสากล อาทิ การหยอดยาขยายม่านตา เพื่อเปิดม่านตาและตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียด ซึ่งในกรณีนี้ตัวยาทำให้ตาลายชั่วคราวประมาณ 4 ชม. ไม่สามารถขับรถได้ และรอม่านตาขยาย 1 ชั่วโมงจึงตรวจได้ ในกรณีคนไข้บางรายอาจจะไม่สะดวกหยอดยาขยายม่านตา
เราสามารถใช้เครื่องถ่ายภาพจอประสาทตามุมกว้าง ที่จะช่วยให้แพทย์สามารถถ่ายภาพให้เห็นพื้นที่จอประสาทตาได้ถึง 200 องศา จากเดิมถ้าเป็นกล้องถ่ายภาพจอประสาทตาทั่วไปจะเห็นพื้นที่เพียง 50 องศา นอกจากนี้ยังมี การตรวจวัดด้วยเครื่องถ่ายภาพตัดขวางจอตา หรือ เครื่อง OCT เครื่องมือที่ใช้ถ่ายภาพประสาทตาในลักษณะภาพตัดขวาง ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยเรื่องของพยาธิสภาพที่จอประสาทตาของคนไข้ได้ละเอียดมากขึ้นช่วยในการรักษาได้ง่ายขึ้น
เบาหวานขึ้นตา วิธีรักษา
ควบคุมที่ต้นเหตุ : โดยหลักการแล้วการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น หากแพทย์พบว่าคนไข้เริ่มมีอาการเบาหวานขึ้นตา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือรักษาที่ต้นเหตุ โดยเน้นที่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือดและความดันโลหิตให้ปกติ เพราะเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้ภาวะเบาหวานขึ้นตามีอาการรุนแรงขึ้น
ยิงเลเซอร์ : กรณีเริ่มมีเลือดออกในลูกตามากขึ้น แพทย์จะเลือกรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ โดยแพทย์จะยิงเลเซอร์ไปที่จอประสาทตาบริเวณรอบนอกเพื่อลดระดับการใช้ปริมาณออกซิเจนของเนื้อเยื่อในลูกตา และลดการหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดเส้นเลือดผิดปกติจากเบาหวานขึ้นตา
ฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา : กรณีคนไข้มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น มีอาการจอประสาทตาบวมร่วมด้วย แพทย์จะใช้เป็นการฉีดยาเข้าช่วย โดยใช้ยาฉีดเข้าน้ำวุ้นตาคนไข้เพื่อลดการบวมของเนื้อเยื่อจอประสาทตา ปัจจุบันตัวยารักษาคนไข้เบาหวานขึ้นตานั้นก็พัฒนาไปไกลพอสมควร ยาที่ทางโรงพยาบาลใช้ฉีดรักษามีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในช่วงระยะแรกๆ คือ คนไข้จำเป็นต้องได้รับยาทุกเดือนในช่วง 4-6 เดือนแรก โดยเราพบว่าโอกาสที่การมองเห็นจะฟื้นกลับมา ใกล้เคียงปกติสูงถึง 60-70% เลยทีเดียว
ผ่าตัด : กรณีที่อาการรุนแรงกว่านั้น อาทิ หากผู้ป่วยปล่อยไว้จนเกิดพังผืดขึ้นจนดึงรั้งจอประสาทตาให้ลอกหรือว่ามีเลือดออกในวุ้นตาปริมาณมาก แพทย์อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
ทั้งนี้วิธีการรักษาแพทย์จะพิจารณาตามระยะของโรคที่คนไข้เป็น บางรายอาจจะต้องมีการรักษามากกว่าหนึ่งอย่างร่วมกัน เช่น การฉีดยาร่วมกับการใช้เลเซอร์ หรือ การฉีดยาร่วมกับการผ่าตัดด้วย
วิธีดูแลตัวเองสำหรับ ผู้ป่วยเบาหวาน
ภาวะโรคเบาหวานส่วนมากในระยะเริ่มต้น คนไข้จะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมแพทย์จึงต้องแนะนำให้คนไข้ที่เป็นเบาหวานทุกคน เข้ารับการตรวจสภาพตาเพื่อหาความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการรักษาในระยะเริ่มต้นจะให้ผลดีกว่าการที่ปล่อยจนอาการรุนแรงแล้วจึงค่อยมาพบแพทย์”
“หลายท่านทราบอยู่แล้วว่าโรคเบาหวาน เป็นโรคที่ไม่หายขาดแต่สามารถใช้ยาในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คนไข้มีชีวิตใกล้เคียงกับปกติที่สุดได้
ดังนั้น การรักษาด้วยวิธีที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่สามารถทำให้ตาของคนไข้กลับมาเป็นปกติได้ 100% หรือหายจากภาวะเบาหวานขึ้นตาทันที แต่จุดประสงค์หลักของการรักษาเพื่อพยายามหยุดตัวโรคไม่ให้เป็นมากขึ้น และเพื่อประคองการมองเห็นที่ยังเหลืออยู่ไม่ให้แย่ลง
เพราะฉะนั้นคนไข้ที่ผ่านการรักษาไปแล้ว โรคสงบแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจติดตามอยู่เป็นระยะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของคนไข้เป็นสำคัญด้วย เพราะหากควบคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะกลับมากำเริบได้เช่นกัน”
ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลพระรามเก้า