เลอค่า “จูน นาตาชา” ถ่ายปกปฏิทินปี 67 ในชุดมโนราห์ ขึ้นทะเบียน UNESCO

21 ธ.ค. 66

เลอค่า “จูน นาตาชา” ถ่ายปกปฏิทินปี 67 ในชุดมโนราห์ ขึ้นทะเบียน UNESCO

ส่งท้ายปลายปีแบบปัง ๆ สำหรับสาว “จูน นาตาชา มณีสุวรรณ์” นางเอกภาพยนตร์จากเรื่อง “ปิดป่าหลอน” และเจ้าของเพลง Boys Don't Cry ที่ไม่ว่าจะจับคว้าอะไรก็เป็นกระแสให้ได้พูดถึงตลอดทั้งปี ล่าสุดสาวจูนสั่งตรงชุดโนราจากต้นตำหรับทางภาคใต้ ถ่ายรูปขึ้นปกปฏิทิน Online ปีใหม่ 2567 อวดโฉมงาม ดูสง่าอย่างมีคุณค่า  ร่วมอนุรักษ์ความเป็นไทยพื้นบ้าน “มโนราห์” ที่องค์การยูเนสโก ( UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียน “โนรา” (Nora , Dance Drama in Southern Thailand) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ  ส่งปฏิทินมอบความสุขให้แฟนคลับและประชาชนทั่วไป ร่วมผลักดันชุดโนราให้เป็น Soft Power ไทยด้านศิลปวัฒนธรรม อวดสายตาสู่สากลโลก

เลอค่า “จูน นาตาชา” ถ่ายปกปฏิทินปี 67 ในชุดมโนราหN ขึ้นทะเบียน UNESCO

“จูน นาตาชา” กล่าวว่า “จูน ในฐานะประธานผู้ก่อตั้งโครงการ World Trend Soft Power to the international relations and economy มีธงเป้าหมายหลักเพื่อต้องการสืบสานและเชิดชูศักยภาพด้านวัฒนธรรมโนราแบบดั้งเดิมของไทยที่ทรงคุณค่าให้ทวีคูณยิ่งขึ้นสู่สายตาชาวต่างชาติและทั่วโลก หลังจากที่องค์การยูเนสโก ( UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียน “โนรา” (Nora , Dance Drama in Southern Thailand) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติไปเมื่อ 2 ปีก่อน (16 ธ.ค. 64) รวมถึงยูเนสโกได้ใช้รูปโนราไทยเผยแพร่บนเฟซบุ๊กทางการ สร้างการรับรู้ไปทั่วโลก สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยและชาวภาคใต้ รวมถึงตัวของจูนด้วยค่ะ จึงเป็นที่มาในการเป็นตัวแทนสืบสานวัฒนธรรมโนราไทยแท้แบบดั้งเดิมของเราให้คงอยู่สืบไปในยุคอนาคต เพื่อจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของเรา ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ชมในยุคต่อ ๆ ไป สิ่งที่เราทำวันนี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปในที่สุดตามกาลเวลา”

เลอค่า “จูน นาตาชา” ถ่ายปกปฏิทินปี 67 ในชุดมโนราหN ขึ้นทะเบียน UNESCO

“คุณตาคุณยายของจูน ท่านก็เป็นคนจังหวัดสงขลา เราก็ถือเป็นลูกหลานชาวใต้เหมือนกัน โดยขออ้างอิงข้อมูลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งเล่าขานตำนานโนราปักษ์ใต้ว่า โนรา หรือ มโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของคนภาคใต้มาช้านาน เป็นการแสดงที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มีดนตรีเป็นลูกคู่ เล่นรับ-ส่งตลอดการแสดง โดยผู้รำโนราจะสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี สวมปีกหางคล้ายนก เทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวที่ทำด้วยโลหะ การแสดงโนราเป็นที่นิยมและถือปฏิบัติแพร่หลายในชุมชนรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา และยังได้รับความนิยมไปตลอดสองฟากฝั่งของคาบสมุทรอินโดจีน ทางตอนเหนือมีคณะโนราแสดงขึ้นไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนทางตอนใต้มีคณะโนราสองภาษา ที่ยังคงแสดงอยู่ในเขตสามจังหวัดภาคใต้และมีการแสดงของชุมชนไทย ในรัฐตอนเหนือของสหพันธรัฐมาเลเซีย ได้แก่ กลันตัน เกดาห์ ปะลิส และปีนัง จากที่จูนได้สัมผัสมาแล้ว จึงมีทัศนะว่า โนรานั้นไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะรำกันได้ง่าย ๆ ต้องมีครู มีใจรัก อดทนและศรัทธากับโนรามากจริง ๆ บางคนเป็นลูกหลานโนราที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นเลย เพราะจากที่จูนได้สัมผัสการแต่งกายและท่วงท่าการรำ บอกเลยว่าไม่ง่ายเลยค่ะ ต้องใช้ความอดทนสูงมากๆถึงจะออกมาสง่างดงาม จึงเป็นที่มาของการขึ้นทะเบียนโนราเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโกค่ะ จูนสั่งชุดมโนราห์มาจากภาคใต้แท้ ๆ เลยค่ะ และระบุว่าต้องเป็นชุดโนราแบบดั้งเดิมเท่านั้น และไม่เสริมเติมแต่งอะไรเด็ดขาด เพราะจูนต้องการวัฒนธรรมโนราแบบโบราณจริง ๆ แบบที่ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนไป เพื่อสร้างภาพจำที่ถูกต้องให้แก่คนรุ่นหลังว่า นี่แหล่ะคือแบบที่ถูกต้องไม่มีปรุงแต่งใด ๆ และหลังจากที่จูนได้มีโอกาสพิเศษได้ใส่ชุดโนรา และใส่ของสูงอย่างเทริด และได้ทำท่าร่ายรำโนรา อยากจะบอกว่าไม่ง่ายเลยค่ะ ในส่วนของชุดไม่ได้ใส่ง่ายๆ มีความซับซ้อนมากทุกท่วงท่าใช้กล้ามเนื้อเยอะมาก ต้องใช้ความชำนาญ ความนิ่งและสมาธิสูงมาก ท่ารำถึงจะออกมาดูสง่างดงามแบบที่เราเห็น ๆ กัน จูนมองว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมารำกันเล่น ๆ แต่ต้องมีครูและศรัทธาจริง ๆ อยากบอกว่าตอนถ่ายรูปท่ารำในสตูดิโอครั้งแรกจูนก็มีร้องโอดโอยไปหลายท่าเลยค่ะ แต่ก็อดทนได้ เพราะแรงศรัทธามีมากกว่า แต่ถ่ายเสร็จก็เข้าร้านนวดแผนไทยเลยค่ะ (หัวเราะ) และรู้สึกภูมิใจมากค่ะ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิต จูนได้เป็นตัวแทนเผยแพร่วัฒนธรรมโนรา ใส่ชุดและรำโนราแบบของแท้โบราณดั้งเดิม ที่ได้ขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก เก็บไว้เป็นความทรงจำไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานดูค่ะ"

เลอค่า “จูน นาตาชา” ถ่ายปกปฏิทินปี 67 ในชุดมโนราหN ขึ้นทะเบียน UNESCO

“จูนมองว่าบริบทด้านวัฒนธรรม ประเพณี หรือเทศกาลของทุกภาคในประเทศไทย มีจารีตประเพณีอันทรงคุณค่าที่สืบทอดกันมาอย่างช้านานอยู่แล้ว เพียงแตกต่างกันไปตามอิริยาบถของแต่ละภาคเท่านั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเสน่ห์ที่เด่นชัดเหมือนกันทั้งสิ้น วัฒนธรรมแบบท้องถิ่นของแต่ละภาคนี่แหล่ะค่ะ ที่จูนอยากให้ชาวต่างชาติได้มาลองสัมผัสเสน่ห์ใหม่ ๆ เหล่านี้ การสื่อสารและการโปรโมทจึงเป็นสิ่งเชื่อมต่อที่สำคัญให้เขามาหาเรา และเราไปหาเขา เพราะหากต่างชาติได้มาเที่ยวเมืองไทยแล้ว เขาไม่เพียงแค่ได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่เท่านั้น แต่จะเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองไทยเราให้เม็ดเงินสะพัด ค่า GDP มวลรวมของประเทศเราจะได้เพิ่มขึ้นในลำดับที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของประเทศ จนทำให้ต่างชาติอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในลำดับต่อไปค่ะ จูนมองว่านี่คือทิศทางของผลพวงที่จะได้รับค่ะ และจูนก็เล็งเห็นว่า ในปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและโปรโมทความเป็นไทยกว้างขึ้นและมากขึ้น ต่อคนไทยเองและชาวต่างชาติทั่วโลก ที่ให้เห็นถึงความงดงามตระการตาด้านวัฒนธรรมอาหาร ดนตรี ภาพยนตร์ การท่องเที่ยวในภาคต่างๆทั่วไทย และวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ มากขึ้น และถึงแม้เราที่เป็นคนไทยเอง ก็ยังไม่ได้ไปซึมซับและสัมผัสวัฒนธรรมของแต่ละภาคอย่างทั่วถึงเลยเช่นกัน เรียกได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ท่องโลกกว้างโดยแท้จริงทั้งคนไทยเองและชาวต่างชาติ"

เลอค่า “จูน นาตาชา” ถ่ายปกปฏิทินปี 67 ในชุดมโนราหN ขึ้นทะเบียน UNESCO

"สุดท้ายจูนขออวยพรให้ปี พ.ศ. 2567 เป็นปีแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่อย่างมั่นคง ของคนไทยและของประเทศไทยค่ะ”

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส