ผู้อพยพเมียนมาส่อทะลัก “ปานปรีย์” สั่งตั้งศูนย์ช่วยเหลือมนุษยธรรมที่ชายแดน ยันไม่ตัดเส้นทางการเงิน ผลกระทบคน 2 ฝั่ง
วันที่ 26 ธ.ค. 66 ที่ทำเนียบรัฐบาล นาย ปานปรีย์ พหิธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมาว่า ตามที่ได้รับรายงานขณะนี้สถานการณ์ในเมียนมา มีการสู้รบกันอยู่ ซึ่งเมียนมามีชายแดนติดกับไทย ยาวถึง 2,400 กิโลเมตร ไทยก็อยู่เฉยไม่ได้ ต้องเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือประชาชนเมียนมา
ซึ่งกระทรวงต่างประเทศมีแนวคิดจัดตั้ง humanitarian assistant หรือศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ และเป็นจุดที่สามารถลำเลียงยา เวชภัณฑ์ อาหาร เข้าสู่เมียนมาได้ด้วย ซึ่งเราพยายามพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมาอยู่ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งรัฐบาลเมียนมาก็เห็นดีด้วย และรับหลักการ แต่ก็ยังต้องพูดคุยกันต่อไป โดยจะมีคณะทำงานของเมียนมาเข้ามาประชุมร่วมในไทย ช่วงต้นเดือนมกราคมนี้
ล่าสุดขณะนี้ยังไม่มีผู้อพยพ จะได้มีการหารือกันภายใน เพื่อเตรียมการกรณีเกิดความรุนแรง มีผู้อพยพข้ามชายแดนมา ไทยจะรับมือได้หรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว
เมื่อถามว่า ถึงเวลาที่ไทยต้องทบทวนฉันทามติ 5 ข้อ แล้วหรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยในอดีตไปร่วมทำฉันทามติกับอาเซียน ซึ่งปีนี้อินโดนีเซียยังเป็นประธานอยู่ ปีหน้า สปป.ลาว เป็นประธาน แต่มติดังกล่าวก็ยังคงดำเนินการอยู่ ซึ่งประเทศไทยก็ยังให้การสนับสนุน เพราะเราไปรับรองฉันทามตินี้ร่วมกับอาเซียน
ส่วนที่ไทยถูกมองว่าสนิทกับเมียนมามากที่สุด สามารถพูดคุยและแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้นั้น นายปานปรีย์ กล่าวว่าความสัมพันธ์ไทยกับเมียนมาเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ประชาชนก็เดินทางไปมาหาสู่ ส่วนปัญหาภายในเป็นเรื่องที่เมียนมาต้องจัดการเอง ไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิกอาเซียนไม่สามารถแทรกแซงกิจการภายในได้
เมื่อถามว่าองค์กรสิทธิมนุษยชน ฟอร์ติฟายไรต์ เสนอให้ไทยตัดเส้นทางการเงิน เพื่อไม่ให้ให้รัฐบาลเมียนมาเอาเงินไปซื้ออาวุธ นายปานปรีย์ กล่าวว่า หากตัดเส้นทางการเงินจะมีผลกระทบประชาชนทั้งในไทยและเมียนมาที่ค้าขายกันอยู่ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ จึงยังไม่มีมีการพูดคุย แต่เท่าที่ทราบสกุลเงินของเมียมาก็ตกลงมากแล้ว
นายปานปรีย์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสว่า ประเทศกาตาร์พยายามเจรจาให้เกิดการหยุดยิงและปล่อยตัวประกันในรอบใหม่ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าต้นปีหน้าจะเจรจากันอีกครั้ง น่าจะเป็นผลดีกับตัวประกันภัยที่ยังติดอยู่ประมาณ 8 คน
เมื่อถามว่า ไทยจะได้รับผลกระทบต่อกรณีกลุ่มกบฏฮูตี ที่โจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง ที่มุ่งหน้าไปอิสราเอล หรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า หากมีความรุนแรง ก็น่าจะได้รับผลกระทบ แต่ขณะนี้อยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้