Easy E-Receipt 1 ม.ค. - 15 ก.พ.67 ซื้อสินค้าบริการ อย่าลืมขอ E-TAX ใช้ลดหย่อนภาษี

2 ม.ค. 67

Easy E-Receipt มาตรการหนุนประชาชนฟันเฟืองเศรษฐกิจ เริ่ม 1 ม.ค. ถึง 15 ก.พ.67 ซื้อสินค้าหรือบริการ อย่าลืมของ E-TAX ใช้ลดหย่อนภาษี

Easy E-Receipt คืออะไร

Easy E-Receipt คือ มาตรการสนับสนุนการบริโภคของประชาชนในประเทศ เดิมคือโครงการ e-Refund ช้อปดีมีคืน เป็นมาตรการภาษีที่ช่วยลดหย่อนภาษีแก่ประชาชนที่ใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เข้าร่วมออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) โดยสามารถนำใบกำกับอิเล็กทรอนิกส์ใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ โดยระยะเวลาของโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น

Easy E-Receipt มีวัตถุประสงค์เป็นการสนับสนุนการบริโภคในประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี และการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

เงื่อนไข Easy E-Receipt

กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) พร้อมต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

กรณีการซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องมีใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) พร้อมต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย เฉพาะค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้

(1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร

(2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

(3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

ใครสามารถเข้าร่วมมาตรการ Easy E-Receipt

ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักรไทย กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวน 50,000 บาท

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567

ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร (กรณีซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม)

(กรณีซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) สามารถซื้อสินค้าหรือบริการกับร้านค้าผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เฉพาะ 3 ประเภทดังนี้ 1.ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร 2.ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ 3.ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

สินค้าและบริการที่ไม่สามารถใช้ร่วมมาตรการ Easy E-Receipt

(1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์

(2) ค่าซื้อยาสูบ

(3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

(4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ

(5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

(6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 2567

(7) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

 

 

ข่าวยอดนิยม