กรมการปกครองเปิดปฏิบัติการ รังสิตมันร้าย จับผับเถื่อน ปล่อยเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ใช้บริการเกือบ 500 คน ต่ำสุดเพียง 16 ปี
เมื่อเวลา 00.30 น. (7 ม.ค.) นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง มอบหมายให้ นายรณรงค์ ทิพย์ศิริ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง พร้อมด้วยนายวิฬุรห์ สิทธิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ร้อยตำรวจเอก เขตรัตน์ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง นำกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง พร้อมสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน กว่า 50 นาย บูรณาการสนธิกำลังร่วมกับ นางสุภาภรณ์ ชมชัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนางานยุติธรรมเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายนพดล พลซื่อ นายอำเภอคลองหลวง นายธีระศักดิ์ รัตนะ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดปทุมธานี พันตำรวจเอก เกียรติศักดิ์ มิตรปราสาท ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เข้าจับกุมสถานบริการในพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยว่า การปฏิบัติการ รังสิตมันร้าย ในครั้งนี้ เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของกรมการปกครองในการสนองนโยบายการจัดระเบียบสังคมของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ได้เน้นย้ำว่า “หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือ มุ่งเน้นการจัดระเบียบสังคมเพื่อสร้างสังคมให้สงบสุข บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย ปลอดอบายมุข ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัย สิ่งใดที่ขัดกับความมุ่งหมายนี้ก็คือสิ่งที่เราต้องใช้กลไกของรัฐในการกำจัดให้สิ้นไป”
นายอรรษิษฐ์ กล่าวอีกว่า ปฏิบัติการจับกุมสถานบริการเถื่อนในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีสถานบริการที่เปิดบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งปล่อยปละละเลยให้เด็กและเยาวชนเข้าไปใช้บริการ จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรีสดที่ส่งเสียงดังรบกวน และเปิดให้บริการเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด กรมการปกครองจึงได้มอบหมายให้ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ส่งสายลับฝ่ายปกครอง ร่วมกับชุดปฏิบัติการพิเศษจังหวัดปทุมธานี เข้าทำการสืบสวน ร้านแห่งหนึ่งในช่วงดึกของวันที่ 6 มกราคม 2567 พบว่าร้านมีขนาดใหญ่ สามารถจุคนภายในร้านได้มากถึง 1,000 คน พื้นที่ร้านกว้างขวาง มีประตูกระจกทางเข้าออกหลายชั้น ด้านหน้าร้านมีรถยนต์จอดเรียงรายหลายร้อยคัน สายลับจึงได้เข้าตรวจสอบภายในร้าน พบนักเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา เด็กและเยาวชน และได้สังเกตเห็นว่า เมื่อมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้ามาตรวจตรา ทางร้านจะให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ทยอยออกด้านหลังร้านเพื่อหลบเจ้าหน้าที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่กลับก็จะให้เด็กกลับเข้ามาในร้านเหมือนเดิม
“เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองทำการสืบสวนข้อเท็จจริงจนพบว่ามีการกระทำผิดจริงตามข้อร้องเรียน ต่อมาในเวลา 00.30 น. ของวันที่ 7 มกราคม 2567 จึงได้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดปฏิบัติการจู่โจมสถานบันเทิงนี้ทันที โดยเมื่อชุดจับกุมเข้าไปถึงภายในสถานบริการดังกล่าว พบเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ซึ่งกำลังมีการแสดงดนตรีสดอย่างเมามัน นักเที่ยวที่กำลังอยู่ในอาการมึนเมาต่างตื่นตกใจ พยายามหาทางหนีการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ควบคุมพื้นที่ ปิดล้อม และวางกำลังไว้ทั่วทุกทางเข้า-ออก ทำให้นักเที่ยวไม่สามารถหนีออกไปได้ พนักงานฝ่ายปกครองจึงสั่งให้ปิดเพลงและเปิดไฟให้แสงสว่าง และได้ประกาศให้ทุกคนอยู่ในความสงบ” นายอรรษิษฐ์ กล่าว
อธิบดีกรมการปกครอง ระบุว่า ผลการตรวจค้นพบว่าสถานบริการแห่งนี้ เป็นสถานบริการเถื่อน ไม่มีใบอนุญาตตั้งสถานบริการ มีพฤติการณ์ปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปใช้บริการ ซึ่งจากการตรวจสอบจำนวนนักเที่ยวภายในร้าน จำนวนเกือบพันคน พบเป็นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์ จำนวนมากถึง 489 คน โดยมีเด็กที่มีอายุต่ำสุดเพียง 16 ปี และยังพบบุคคลไม่พกบัตรประจำตัวประชาชน 41 คน และยังมีการละเมิดกฎหมาย ทั้งมีการจำหน่ายสุราให้แก่เด็ก และจำหน่ายสุราให้แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี จำหน่ายสุราเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร จำหน่ายสุราแก่เด็ก
และยังเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้แก่ เจ้าของ/ผู้ดูแล/ผู้จัดการร้านให้ทราบถึงความผิด และจะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง