ปภ.เตือน 40 จังหวัด เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ ช่วง 13 – 16 ม.ค.67
วันที่ 13 ม.ค. 67 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 4 (4/2567) แจ้งว่า คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนระลอกใหม่ จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในช่วงวันที่ 13 – 16 ม.ค.
ทำให้มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าในช่วงแรก บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลาง จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย
โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงระหว่างวันที่ 13 – 16 ม.ค.แยกเป็น
- ภาคเหนือ ทุกจังหวัด
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา
- ภาคกลาง 13 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ
กอปภ.ก จึงประสานแจ้ง 40 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว
โดยติดตามสภาพอากาศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย