ที่มาของวงเงินคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาท เพิ่มความเชื่อมั่นให้ประชาชนมั่นใจทุกครั้งที่ฝากเงิน

21 ก.พ. 67

สคฝ. ไขข้อสงสัย ที่มาของวงเงินคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาท เพิ่มความเชื่อมั่นระบบคุ้มครองเงินฝากให้ประชาชน มั่นใจทุกครั้งที่ฝากเงิน

เชื่อว่าหนึ่งในเป้าหมายของใครหลายคน จะต้องมีเรื่องการวางแผนทางการเงินเพื่อรองรับการเกษียณรวมอยู่ด้วย การออมเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินและสร้างความมั่นคงในระยะยาวยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เศรษฐกิจมีความผันผวนสูง การเริ่มต้นที่ง่ายและปลอดภัยที่สุดก็คือ การฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน เพราะประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้แก่ประชาชนผู้ฝากเงิน โดยมีวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาท วันนี้ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA จะเจาะลึกถึงที่มาของการกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากของประเทศไทย ทำไมต้อง 1 ล้านบาท

923754

เปิดที่มา ‘ทำไมต้องกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก?’

โดยปกติการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวนนั้นจะถูกนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการฝากเงิน เมื่อพบว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบการเงินของประเทศ ซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังของภาครัฐเป็นอย่างมาก เพราะต้องใช้เงินภาษีหรือกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการคืนเงิน นอกจากนี้ หากไม่กำหนดวงเงินที่จะคุ้มครอง อาจทำให้ผู้ฝากเกิดพฤติกรรมที่นำไปสู่ความเสี่ยง เนื่องจากความเชื่อที่ว่าหากสถาบันการเงินเกิดปัญหา ผู้ฝากจะยังคงได้รับเงินฝากคืนครบทุกบาท ทำให้ขาดความระมัดระวังในการเลือกสถาบันการเงินที่จะฝากเงิน และมุ่งเน้นที่ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยเงินฝากเป็นสำคัญ โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเข้มแข็งของสถาบันการเงินเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า ภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard)

ดังนั้น การกำหนดวงเงินคุ้มครองที่เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเชื่อให้แก่ผู้ฝากเงิน และช่วยกระตุ้นให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และพัฒนาศักยภาพการแข่งกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดวงเงินคุ้มครอง แต่ตามหลักการคุ้มครองเงินฝากสากล วงเงินดังกล่าวจะต้องสามารถคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนของผู้ฝากอย่างน้อยร้อยละ 90 ของผู้ฝากเงินทั้งประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ใช้พิจารณาวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ประกอบด้วย โครงสร้างของระบบสถาบันการเงิน, โครงสร้างของเงินฝาก อันได้แก่ จำนวนรายผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน และจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองในระบบ, การเคลื่อนไหวของเงินฝาก, กองทุนคุ้มครองเงินฝาก, รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per Capita) และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมหภาค

525473

สคฝ. คุ้มครองทันที มั่นใจทุกครั้งที่ฝากเงิน ด้วยวงเงินคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน

วงเงินที่ได้รับความคุ้มครองจะแตกต่างตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากของประเทศไทยอยู่ที่ 1 ล้านบาท ครอบคลุมเงินฝากทั้งจำนวนของผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98 ของผู้ฝากทั้งระบบ ซึ่งหมายความว่าผู้ฝาก 98 คนจาก 100 คน จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่เกิน 1 ล้านบาท หากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนผู้ฝากที่เหลือจะได้รับเงินคืนที่ 1 ล้านบาทก่อน โดยจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน 1 แห่ง (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี) ในกรณีที่ผู้ฝากมีหลายบัญชีในสถาบันการเงิน 1 แห่ง จะต้องนำเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) ในทุกสาขาและทุกบัญชีของสถาบันการเงินแห่งนั้นมาคำนวณทั้งหมด และจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ตามขั้นตอนการจ่ายเงินคุ้มครอง

ทั้งนี้ เงินที่จะนำมาจ่ายคืนให้กับผู้ฝากมีแหล่งที่มาจากกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งเรียกเก็บจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยปัจจุบันกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง และมีความเข้มแข็งมั่นคง ผู้ฝากทุกคนจึงมั่นใจได้ว่าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงขั้นธนาคารถูกเพิกถอนใบอนุญาต ประเทศไทยก็ยังมีกลไกด้านการคุ้มครองเงินฝาก โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่พร้อมทำหน้าที่จ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากอย่างแน่นอน

ผู้ฝากและประชาชนที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝากได้ที่ เว็บไซต์ www.dpa.or.th หรือช่องทางโซเชียลมีเดียได้ทาง Facebook, YouTube, Twitter, Line, LinkedIn เพียงกดค้นหา dpathailand หรือโทรสอบถามได้ที่ DPA Contact Center 1158

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม