ตำรวจไซเบอร์ ทลายเครือข่ายปลอมวุฒิฯเพียบ

29 ก.พ. 67

ตำรวจไซเบอร์รวบอดีตสาวประกันภัยที่ผันตัวมาทำวุฒิการศึกษาปลอมขายออนไลน์ พบมหาวิทยาลัยรัฐ-เอกชน โดนเพียบ

 

วันที่ 29 ก.พ. ตำรวจไซเบอร์ แถลงการจับกุมผู้ต้องหาปลอมวุฒิการศึกษา และเอกสารราชการอื่น ๆ ส่งขายออนไลน์ทั่วประเทศ 2 คดี ได้ผู้ต้องหา 5 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางวุฒิการศึกษาปลอม ใบ ป.4 ปลอม คอมพิวเตอร์ ตรายาง และอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมของกลางกว่า 100 รายการ โดยได้นำของกลางเหล่านี้มาจัดแสดงระหว่างแถลงข่าวด้วย

โดยคดีแรก พบว่าอดีตสาวประกันภัยที่ผันตัวมาทำวุฒิการศึกษาปลอมขายออนไลน์ โดยสืบเนื่องจาก ตำรวจไซเบอร์ได้รับเบาะแสว่า มีผู้รับจ้างทำเอกสารราชการปลอมจำหน่ายทางออนไลน์ โดยใช้เฟซบุ๊กและบัญชี LINE "มูลนิธิศึกษา" พบว่ามีพฤติการณ์รับทำวุฒิการศึกษาและใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน หรือ ใบแบบ ป.4 ปลอม จึงทำการสืบสวนสอบสวนและพิสูจน์ทราบแน่ชัด ว่ามีการกระทำความผิดจริง นำมาสู่การขอหมายค้นต่อศาลจังหวัดสงขลา เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา สามารถควบคุมตัว น.ส.วันดี (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ภายในบ้าน พร้อมสามารถยึดของกลาง เป็นวุฒิการศึกษาปลอมที่ได้รับการสั่งทำของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศทั้งของรัฐและเอกชน จำนวน 29 ใบ วุฒิการศึกษาปลอมระดับ ปวช. และ ปวส. ใบแบบ ป.4 จำนวน 4 ใบ ได้แก่ สำหรับอาวุธปืน .38 จำนวน 3 ใบ และขนาด .22 จำนวน 1 ใบ อีกทั้งของกลางอื่น ๆ อีก 12 รายการ

1709200431529

โดย น.ส.วันดี ให้การยอมรับสารภาพว่า รับทำวุฒิการศึกษาปลอมจริง โดยให้ลูกค้าติดต่อรับจ้างผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งสองบัญชีข้างต้น ซึ่งตนเป็นแอดมินเองและทำเองคนเดียว คิดราคาวุฒิการศึกษาระดับ ม.ต้น 2,500 บาท ม.ปลาย 3,700 บาท ปวช. 4,000 บาท ปวส. 4,800 บาท และปริญญาตรี 9,000 บาท ส่วนใบแบบ ป.4 ปลอม มีลูกค้าสั่งทำจริง แต่ยังไม่มีการชำระเงินและจัดส่งสินค้า โดยรวมมีเงินหมุนเวียนเดือนละ 40,000 บาท

1709200441112

น.ส.วันดี ให้การเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยทำงานเป็นตัวแทนบริษัทประกันชีวิตมาก่อน แต่เนื่องจากจบการศึกษาระดับชั้น ปวส. จึงมีทักษะการใช้โปรแกรมตัดต่อพอสมควร จึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพมารับทำวุฒิการศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ซึ่งที่ผ่านมามีลูกค้าหมุนเวียนมากกว่า 300 ราย

พบว่าเบื้องต้นมีเอกสารวุฒิปริญญาตรีปลอมทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนชื่อดัง เช่นมหาวิทยาลัยเกษตร มหาวิทยาลัยรามคำแหงมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยหอการค้า นอกจากนี้ยังมีวุฒิปลอมระดับ ปวส. และปวช.เช่น วิทยาลัยพาณิชยการบางนา วิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก เป็นต้น

ทางตำรวจจึงได้แจ้งข้อหาทำเอกสารปลอมโดยน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ปลอมเอกสารราชการ และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนจะส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสงขลา ดำเนินคดีต่อไป

ส่วนคดีที่สอง เป็นการล้างบางเครือข่ายเพจ Facebook ชื่อว่า "นักศึกษา-นักล่าปริญญา" พบว่า มีพฤติการณ์โฆษณารับทำเอกสารวุฒิการศึกษาปลอมผ่านเพจดังกล่าว หากมีผู้สนใจก็จะให้แอดไลน์ตามไอดีที่แจ้งไว้หน้าเพจ ในบัญชีไลน์ชื่อ "เอกสารสำหรับสมัครงาน" โดยคิดค่าใช้จ่ายตามระดับการศึกษา ได้แก่ ม.3 (กศน.) 1,200 บาท ม.6 (กศน.) 1,800 บาท ม.3 (สามัญ) 2,000 บาท ม.6 (สามัญ) 2,500 บาท ปวช. 2,500 บาท ปวส. 3,500 บาท ปริญญาตรี 6,000 บาท และปริญญาโท 7,000 บาท

จากการสืบสวนทราบว่าเจ้าของบัญชี Facebook และ LINE ดังกล่าว คือ นายศุภณัฐ รับหน้าที่เป็นผู้รับออเดอร์การผลิต ซึ่งลูกค้าจะต้องแจ้งข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ พร้อมรูปถ่ายหน้าตรงมาให้ ก่อนจัดส่งข้อมูลต่อให้ขบวนการ คือ นายณัฐชัชวิทย์ รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตเอกสารปลอม ซึ่งนายณัฐชัชวิทย์ มีความชำนาญและใช้ความแนบเนียนในการผลิตวุฒิการศึกษาปลอม ทั้งการศึกษารายละเอียดของสถาบันที่ลูกค้าว่าจ้างและการคำนวณปีที่จบการศึกษาให้สอดคล้องกับอายุของผู้ว่าจ้าง ซึ่งสามารถทำได้อย่างแนบเนียน ไม่มีพิรุธ และไม่สามารถแยกได้ว่า เป็นของจริงหรือของปลอม เมื่อผลิตเสร็จแล้ว ก็จะส่งไฟล์เอกสารปลอมให้ลูกค้าตรวจสอบ ก่อนให้ลูกค้าโอนชำระเงินเข้าบัญชีม้า 2 บัญชี แล้วส่งไฟล์ให้แก่ลูกค้าต่อไป

ต่อมาทางตำรวจไซเบอร์ได้เข้าตรวจพื้นที่เป้าหมาย 2 จุดและสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ยกขบวนการจำนวน 4 ราย ได้แก่ นายศุภณัฐ เจ้าของเพจและบัญชีไลน์ จับได้ที่ จ.นครราชสีมา นายณัฐชัชวิทย์ ผู้ผลิตเอกสารปลอม จับได้ที่ จ.ปราจีนบุรี น.ส.คุณารัตน์ และนายวัชระ เจ้าของบัญชีม้า จับได้ที่ จ.สมุทรปราการ ทั้งคู่ พร้อมของกลางเป็นเอกสารปลอมที่เกี่ยวข้องกับวุฒิที่การศึกษาปลอมและใช้ในการกระทำความผิดจำนวนมากกว่า 85 รายการ โดยผู้ต้องหาทั้ง 4 รายถูกดำเนินคดี ในข้อหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารราชการและร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์

เบื้องต้นผู้ต้องหา ให้การรับสารภาพ โดยอ้างว่า ขบวนการดังกล่าวสามารถสร้างรายได้สูงถึง 300,000 -  400,000 บาทต่อเดือน มีเงินหมุนเวียนในบัญชีมากกว่า 4 ล้านบาทต่อปี.

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส